คราวที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงกระแส “#แบนเที่ยวเกาหลี” ที่มีคนมากมายต่างพากันเล่าประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศด้วยเหตุผล “อิหยังวะ?!” กับ “มาตรฐานการคัดคนเข้าประเทศ” ที่คนใกล้ตัวของผู้เขียนก็ถูกปฏิเสธเช่นกันเพราะ “ไม่รู้ชื่อร้านอาหาร”  และ “พิกัดของที่พักไม่มีบนแผนที่ในแอปพลิเคชันเนเวอร์แม็ปของเกาหลีใต้”

อันที่จริงไม่ใช่แค่คนไทยที่ประสบปัญหาเช่นนี้ เคยมีหญิงชาวมาเลเซียเผยผ่านติ๊กต่อกว่า ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเกาหลีใต้ เนื่องจากไม่ได้นำพาสปอร์ตเล่มเก่าที่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศติดตัวมาด้วย แม้จะมีเอกสารการจองตั๋วเครื่องบิน การจองที่พัก และเอกสารยืนยันขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (K-ETA) ตามที่รัฐบาลเกาหลีใต้จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้นก็ตาม (เช่นเดียวกับพี่สาวของผู้เขียนที่ได้ยื่นหลักฐานแบบเดียวกันต่อ ตม.) ขณะที่กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียแถลงต่อสื่อท้องถิ่นว่าได้พูดคุยกับหญิงคนดังกล่าวและต้องการคำตอบจากเกาหลีใต้

ย้อนกลับมาฟากฝั่งไทย กระแส #แบนเที่ยวเกาหลี ร้อนแรงจนติดอันดับ 1 บนเอ็กซ์ (หรือทวิตเตอร์) ที่ไม่ได้มีแค่การเล่าประสบการณ์ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานหลายมาตรฐานของ ตม. แต่ยังรวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตถึงอคติ ของคนเกาหลีใต้ที่มีต่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ไทย แต่ดังไกลไปถึงดินแดนต้นเรื่อง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวท้องถิ่นของเกาหลีใต้หลายสำนัก อาทิ ยอนฮับ จุงอังเดลีย์ รายงานถึงประเด็นการแบนเที่ยวเกาหลีว่า องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีรับทราบเรื่องการส่งนักท่องเที่ยวไทยกลับประเทศและกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องคัดกรองคนเข้าประเทศอย่างเข้มงวด เนื่องจากนักเดินทางที่มาจากไทยราว 78% อยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ส่วนสำนักข่าวไทยรายงานอ้างแถลงการณ์ของปลัดกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปฏิเสธนักท่องเที่ยวชาวไทยแต่อย่างใด อาจเป็นเพียงเจ้าหน้าที่บางคนที่เข้มงวด

...

อยากทราบจริงๆว่ามาตรฐานการคัดกรองอยู่ตรงไหนและเป็นอย่างไร ใครให้คำตอบได้บ้าง?

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม