สำนักงานอวกาศยุโรปเผยแพร่ภาพชุดแรกที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยูคลิด ถ่ายได้ระหว่างทำภารกิจสำรวจจักรวาลมืดออกมาแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการ 6 ปีในการไขความลับจักรวาล
เมื่อวันอังคารที่ 7 พ.ย. 2566 สำนักงานอวกาศแห่งยุโรป หรือ อีซา (ESA) เผยแพร่ภาพชุดแรกจำนวน 5 รูป ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘ยูคลิด’ (Euclid) ซึ่งถูกส่งออกไปนอกโลกเพื่อทำภารกิจ สำรวจจักรวาลมืด (dark universe) เพื่อไขปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวาลอย่าง สสารมืด และพลังงานมืดแล้ว
...
อีซา ระบุว่า ภาพทั้ง 5 ภาพแสดงให้เห็นศักยภาพอย่างเต็มที่ของ ยูคลิด และแสดงให้เห็นว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเครื่องนี้พร้อมที่จะสร้างแผนที่อวกาศ 3 มิติ ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีข้างหน้า
จาก 5 ภาพที่ได้รับการเผยแพร่ออกมา มี 2 ภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซี่ของเรา รวมถึงภาพ ‘เนบิวลารูปหัวม้า’ (Horsehead Nebula) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาว ‘โอริออน’ แต่ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ภาพกระจุกกาแล็กซี่ ใน ‘เพกาซัส คลัสเตอร์’ (Perseus Cluster)
อีซา ระบุว่า ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นกาแล็กซี่กว่า 1,000 แห่ง ที่เป็นของเพกาซัส คลัสเตอร์ และอีกหลายแสนกาแล็กซี่ที่อยู่ไกลออกไปบนพื้นหลัง ซึ่งบางจุดอยู่ไกลมากจนแสงต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 1 หมื่นล้านปี กว่าจะมาถึงเรา
ทั้งนี้ สสารมืด และ พลังงานมืด เป็นเหมือนอิทธิพลปริศนาที่เคยควบคุมรูปทรงและการขยายตัวของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า พวกเขาอาจไม่พบเบาะแสของพวกมันที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แม้ว่าอวกาศจะประกอบด้วยพลังงานและสสารลึกลับนี้ถึง 95% ก็ตาม
...
เนื่องจากทั้งสสารมืดและพลังงานมืดไม่สามารถถูกตรวจจับได้โดยตรง นักวิทยาศาสตร์จึงได้แต่หวังว่า พวกเขาจะสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับพวกมันได้มากขึ้น เพื่อตามรอยสัญญาณอันเบาบางของพวกมันในสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้
ซึ่งนี่คืองานของ ยูคลิด มันจะคอยสังเกตการณ์ลักษณะเค้าโครง, ระยะห่าง และความเคลื่อนไหวของกาแล็กซี่นับพันล้าน ซึ่งบางแห่งต้องใช้เวลาเกือบเท่าอายุของทั้งจักรวาล กว่าที่แสงของมันจะส่งมาถึงพวกเรา โดยนักวิทยาศาสตร์หวังว่า ที่ใดสักแห่งในแผ่นที่อวกาศ 3 มิตินี้ พวกเขาจะพบคำตอบที่ตามหา
...
อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยูคลิด มูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านยูโร ถูกส่งออกจากโลกด้วยจรวดของบริษัท สเปซเอ็กซ์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และใช้เวลา 1 เดือนเดินทางไปยังจุดหมายในอวกาศ ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 1.5 ล้านกิโลเมตร ไปอยู่เป็นเพื่อนบ้านของกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นพี่อย่าง กล้องเจมส์ เวบบ์
กล้องยูคลิดมีขนาดสูง 4.7 ม. และกว้างเกือบจะเท่ากัน บนตัวเครื่องติดตั้งกล้องโทรทรรศย์ยาว 1.2 ม. และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อีก 2 อย่างที่ทำให้มันสามารถสังเกตการณ์อวกาศได้ ทั้งในช่วงแสงที่มนุษย์มองเห็น (visible light) และช่วงแสงที่เรียกว่า เนียร์ อินฟาเรด (near infrared) ซึ่งเลยช่วงแสงที่มนุษย์มองเห็นไปเล็กน้อย
...
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc