- สงครามอิสราเอล-ฮามาส กำลังจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 การโจมตีของกองทัพยิวทำให้ชาวกาซาเสียชีวิตไปหลายพันศพ แต่สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนอิสราเอลสุดลิ่มทิ่มประตู
- สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลมาตั้งแต่ก่อนก่อตั้งประเทศ และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด เหตุผลหนึ่งคือ รัฐยิวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันตก
- ขณะเดียวกัน กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ของอิสราเอลในสหรัฐฯ ก็มีอิทธิพลมากต่อการเลือกตั้ง และให้การสนับสนุนทางการเงินมหาศาลแก่ทั้ง 2 พรรคการเมือง
ภายในไม่กี่วันแรกหลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่เข้าใส่อิสราเอลเมื่อ 7 ต.ค. 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 ศพ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็เดินทางเยือนอิสราเอล เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐบาลยิว พร้อมทั้งประณามฮามาสว่าเป็นความชั่วร้ายบริสุทธิ์
ทว่า นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อิสราเอลทิ้งระเบิดโจมตีภายในฉนวนกาซาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อล้างแค้น และทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก ก่อนจะส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าโจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตกว่า 9,000 ศพ
แต่สหรัฐฯ ยังคงสงวนท่าทีไม่ออกมาประณามอิสราเอล แม้จะเห็นชัดเจนว่าฝ่ายหลังโจมตีดินแดนเล็กๆ แห่งนี้โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียต่อประชาชน 2.3 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ภายใน สหรัฐฯ ถึงกับใช้สิทธิ์วีโต ปฏิเสธการออกมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดการโจมตี และโหวตค้านมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม
ท่าทีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยเมื่อดูจากความสัมพันธ์ในอดีตระหว่าง สหรัฐฯ กับ อิสราเอล เพราะนอกจากกระทบกระทั่งเป็นการส่วนตัวเล็กน้อยระหว่างผู้นำของทั้ง 2 ประเทศแล้ว แดนลุงแซมยังให้การสนับสนุนรัฐยิวมาตลอด ตั้งแต่ปี 2510
...
จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์
สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิดเรื่องมาตุภูมิของชาวยิวมาตั้งแต่ก่อนที่อิสราเอลจะก่อตั้งขึ้นในดินแดนที่เคยเป็นของปาเลสไตน์เมื่อปี 2491 แล้ว โดยในวันที่ 3 มี.ค. 2462 หรือ 2 ปีหลังจากมีคำประกาศ ‘บัลโฟร์’ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเห็นชอบให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐฯ ก็ออกมาประกาศเห็นพ้องกับเรื่องดังกล่าว
จากนั้นในปี 2465 กับปี 2487 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็ผ่านมติสนับสนุนประกาศบัลโฟร์อย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ ยังเป็นชาติแรกที่ให้การยอมรับอิสราเอลเป็นรัฐในปี 2491 โดยเกิดขึ้นเพียง 11 นาทีเท่านั้น หลังจากอิสราเอลประกาศการก่อตั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ทศวรรษแรกหลังการก่อตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯ กับ อิสราเอล ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก รัฐบาลของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ไม่พอใจตอนที่อิสราเอล ร่วมกับฝรั่งเศส และอังกฤษ เปิดฉากทำสงครามคลองสุเอซ และขู่จะตัดการสนับสนุนหากอิสราเอลไม่ยอมถอนกำลังออกจากดินแดนที่พวกเขาเข้ายึดครอง โซเวียตก็ขู่จะยิงมิสไซล์โจมตีเช่นกัน ทำให้อิสราเอลต้องยอมถอนทัพ
เหตุการณ์คล้ายกันนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 60 รัฐบาลของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ออกมาแสดงความกังวลเรื่องโครงการนิวเคลียร์ลับของอิสราเอล
แต่ในสงครามอาหรับ ปี 2510 ซึ่งอิสราเอลเอาชนะกองทัพของจอร์แดน, ซีเรีย และอียิปต์ ภายในระยะเวลา 6 วัน และยึดดินแดนได้มากมาย นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในท่าทีที่สหรัฐฯ มองอิสราเอลอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสหรัฐฯ ในตอนนั้นกำลังติดหล่มในสงครามเวียดนาม แต่อิสราเอลกลับชนะชาติอาหรับได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากนัก
ไม่เพียงเท่านั้น 2 ชาติอาหรับอย่าง อียิปต์ และซีเรีย เป็นพันธมิตรของโซเวียต ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา สหรัฐฯ ก็เริ่มมองอิสราเอลเป็นพันธมิตรที่มั่นคง ผู้คอยควบคุมการขยายอิทธิพลของโซเวียตในเอเชียตะวันตก
สหรัฐฯ มหามิตรของอิสราเอล
ทุกวันนี้อิสราเอลกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่ธรรมดาสำหรับสหรัฐฯ พวกเขาให้การสนับสนุนทางการเงิน, การทหาร และการเมืองแก่รัฐบาลยิว โดยแทบจะปราศจากเงื่อนไข ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะเป็นหนึ่งในชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็ไม่เคยต้องเผชิญการกดดัน หรือการตรวจสอบใดๆ เพราะความคุ้มครองจากสหรัฐฯ
อิสราเอลยังเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากที่สุดแล้ว โดยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พวกเขารับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มาแล้วคิดเป็นมูลค่าถึง 1.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และตอนนี้ยังรับความช่วยเหลือทางทหาร 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี คิดเป็น 16% ของงบประมาณทางทหารทั้งหมดของอิสราเอล
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล โดยมูลค่าการค้าขายรายปีของทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังมีความสัมพันธ์ทางทหารอย่างแน่นแฟ้น วิจัย, พัฒนา และผลิตอาวุธร่วมกันบ่อยครั้ง รวมถึง ‘ไอรอน โดม’ ระบบป้องกันมิสไซล์อันโด่งดังของรัฐบาลยิว ก็ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯ ในการสร้าง และได้รับทุนสร้างบางส่วนจากสหรัฐฯ
ด้วยความช่วยเหลือจากวอชิงตัน อิสราเอลกลายเป็นฐานการผลิตอาวุธล้ำสมัย และติดอันดับ 10 ประเทศที่ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก
นับตั้งแต่ปี 2515 สหรัฐฯ ใช้สิทธิ์วีโตขัดขวางการออกมติประณามหรือวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอล ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง และให้การสนับสนุนทางทหารแก่อิสราเอลในเวลาสงครามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามยมคิปปูร์ ในปี 2516 และสงครามอิสราเอล-เลบานอน ในปี 2525
หลังจากการลุกฮือต่อต้านอิสราเอลครั้งแรกของปาเลสไตน์ สหรัฐฯ แสดงท่าทีสนับสนุนกระบวนการออสโล และนโยบาย 2 รัฐ แต่ก็ไม่ลดทอนการสนับสนุนอิสราเอล รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยอมรับกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังเมืองพิพาทแห่งนี้ และให้การยอมรับการควบรวมที่ราบสูงโกลันของซีเรีย ซึ่งถูกอิสราเอลปกครองมาตั้งแต่สงครามปี 2510 ด้วย
...
ทำไมสหรัฐฯ หนุนอิสราเอลสุดลิ่มทิ่มประตู?
หนึ่งในเหตุผลของเรื่องนี้อาจเป็นเพราะอิสราเอลมีคุณค่าเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่พร้อมจะลุกเป็นไฟ แต่ก็สำคัญแห่งนี้ ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ มองอิสราเอลเป็นปราการสำคัญสำหรับต้านการขยายอิทธิพลของโซเวียตเข้าสู่โลกอาหรับ หลังสงครามเย็นผ่านพ้นไป สหรัฐฯ ก็เริ่มไปมีส่วนร่วมในเอเชียตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ และมองอิสราเอลเป็นขุมกำลังรักษาความมั่นคงเช่นเดียวกับ ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์
คุณค่าทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวคล้ายกับการที่สหรัฐฯ รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเยอรมนี ปัจจัยอื่นๆ อย่าง ความเห็นของชาวอเมริกัน, การเมือง และการล็อบบี้ของอิสราเอลในสหรัฐฯ ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายอิสราเอลของสหรัฐฯ
ในอดีตที่ผ่านมาอิสราเอลได้รับการสนับสนุนแทบจะเป็นเอกฉันท์จากสภาคองเกรสสหรัฐฯ และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็มองอิสราเอลในแง่บวก ชาวยิวอเมริกัน และชาวคริสต์นิกายอีแวนเจลีน ก็เป็น 2 กลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ขณะที่ล็อบบี้ยิสต์ของอิสราเอลในสหรัฐฯ ก็มีอิทธิพลมาก ทั้งช่วยเพิ่มเสียงสนับสนุนอิสราเอล หนุนหลังนักการเมืองโปรอิสราเอล และคอยล็อบบี้ให้มีการหักล้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลในสหรัฐฯ
หนึ่งในล็อบบี้ยิสต์กลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อย่าง คณะกรรมการกิจการสาธารณะอิสราเอล-อเมริกัน (AIPAC) เคยต้อนรับผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศมาแล้ว รวมถึง ประธานาธิบดี, สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ในการประชุมประจำปีของพวกเขา กลุ่มโปรอิสราเอลยังให้การสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่ทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันด้วย เช่นในปี 2563 มีรายงานว่าพวกเขามอบเงินให้แก่ทั้ง 2 พรรคร่วม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลก็มีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว ทั้งคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล, การเมืองภายในของสหรัฐฯ, ล็อบบี้ยิตส์ของอิสราเอล และอุตสาหกรรมทางทหาร ทำให้มั่นใจได้เลยว่า ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี พรรคใดจะเป็นรัฐบาล สหรัฐฯ ก็จะเข้าข้างอิสราเอลอย่างเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์.
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : thehindu, aljazeera
...