ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นรอบที่ 3 ในวันนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน บริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้เริ่มปล่อยน้ำบำบัด ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นรอบที่ 3 ในช่วงเช้าของวันนี้ (2 พ.ย.2566) ตามเวลาท้องถิ่น

เมื่อปี 2554 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิ ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า และหลังจากใช้เวลาฟื้นฟู และบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี นานกว่า 12 ปี โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเริ่มปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้าลงสู่ทะเลครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 และต่อมาในวันที่ 5 ต.ค. 2566 โรงไฟฟ้าก็ได้ปล่อยน้ำจากการบำบัดเป็นหนที่ 2 

การปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.จนถึงวันที่ 20 พ.ย. โดยจะมีการปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้า ลงทะเลประมาณ 7,800 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณเท่ากับการปล่อยน้ำ 2 ครั้งก่อนหน้านี้  

ทั้งนี้ การปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี กว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ โดยปัจจุบัน มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีถึง 1.34 ล้านตัน อยู่ในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดต่อจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเซอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อน

รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า การปล่อยน้ำบำบัดลงทะเลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากถังกักเก็บน้ำกว่า 1,000 ถังใกล้เต็ม แม้จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากภาคประมงในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน และเกาหลีใต้

...

ที่มา : AP