• สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส กองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ ทวีความตึงเครียดมากขึ้นอย่างน่าวิตก หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวและจับตัวประกันไปกว่า 200 คน
  • อะไรคือปมขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่นำไปสู่การสู้รบนองเลือดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยชาติอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางและชาติตะวันตกต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
  • ความพ่ายแพ้ของชาติอาหรับในสงครามกับอิสราเอล ทำให้ต้องสูญเสียดินแดน เป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านคนต้องอพยพระเหเร่ร่อนออกจากดินแดนที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เคยอยู่กันมาเป็นร้อยปี จนนำมาสู่การก่อกำเนิดขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ภายใต้การนำของยัสเซอร์ อาราฟัต และมาถึงกลุ่มฮามาสในปัจจุบัน

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ ‘กลุ่มฮามาส’ ทวีความรุนแรงมากขึ้น อิสราเอลยังเดินหน้าถล่มฉนวนกาซาอย่างหนัก หลังถูกกลุ่มฮามาสบุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ และจับตัวประกันไปกว่า 200 คน ตั้งแต่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา  

การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ทำให้ยอดผู้เสียชีวิต (จนถึง 27 ต.ค. 2023) พุ่งทะยานขึ้นไปกว่า 8,400 ศพ ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ถูกสังหาร จากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ศพ บาดเจ็บกว่า 18,000 ราย ส่วนในอิสราเอล มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 1,400 ศพ 

อะไรคือชนวนสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์? ที่ ‘ร้าวลึก’ ยากจะประนีประนอม และพร้อมจะห้ำหั่น สู้รบ จนนองเลือดมานับครั้งไม่ถ้วน

...

ประวัติศาสตร์ยุคใหม่: ขัดแย้งกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล หรือชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ดำเนินมาเนิ่นนานกว่า 100 ปีแล้ว นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 

เนื่องจากทั้งชาวอิสราเอล หรือชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็น 'ภูมิรัฐศาสตร์' เชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ในหน้าประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว จากการตั้งอยู่ในดินแดนที่เป็นภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ ทำให้ชาวยิว ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ เรื่อยมา และต้องระเหเร่ร่อนกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

ชาวอิสราเอลหรือชาวยิวชี้ว่า แหล่งกำเนิดของชนชาติยิวคือ ดินแดนอิสราเอล ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เอเรตซ์อิสราเอล อันเป็นที่เกิดของประวัติศาสตร์ยาวนานของชาติ โดยในช่วงหนึ่งพันปีแรกได้มีจารึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ที่นั่น เป็นจุดเริ่มของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ และมีการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวดำเนินติดต่อกันมานานนับศตวรรษ ถึงแม้ในภายหลังชาวยิวส่วนใหญ่จะถูกเนรเทศออกจากดินแดนแห่งนี้ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้น นครเยรูซาเล็ม ซึ่งกลายเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา ทั้งยูดาห์, คริสต์ และ อิสลาม และพื้นที่โดยรอบได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของ จักรวรรดิออตโตมัน หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน โดยจักรวรรดิออตโตมัน ได้ตั้งชื่อดินแดนที่ตั้งของนครเยรูซาเล็มและพื้นที่โดยรอบว่า “ปาเลสไตน์”

แต่แล้ว 'ดินแดนปาเลสไตน์' และชะตากรรมของชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ต้องมาถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อจักรวรรดิออตโตมัน เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ยุติลงในปี 1918)

กองท้พอิสราเอลส่งกำลังทหารพร้อมรถถังประชิดชายแดนติดฉนวนกาซา ทำสงครามบุกภาคพื้นดิน
กองท้พอิสราเอลส่งกำลังทหารพร้อมรถถังประชิดชายแดนติดฉนวนกาซา ทำสงครามบุกภาคพื้นดิน

ชี้ 'คำประกาศบัลโฟร์' คือรากเหง้าปมขัดแย้ง

รากเหง้าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ภายหลังจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1  จึงทำให้อังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม ได้เข้ายึดครองดินแดนที่เรียกว่า 'ปาเลสไตน์' 

บีบีซีรายงานว่า จากการที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้ก่อตั้ง 'รัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์' ในเอกสารที่รู้จักกันในชื่อ 'คำประกาศบัลโฟร์' เมื่อปี 1917 ถือเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ยากจะแก้ไขมากที่สุดในยุคใหม่

คำประกาศบัลโฟร์ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามนายอาร์เธอร์ บัลโฟร์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น เป็นจดหมายความยาวเพียง 67 คำ ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีใจความว่า 'รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้ตั้งรัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์'

...

แต่เรื่องนี้ได้เป็นชนวนของปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ การตั้งรัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ เกิดขึ้นขณะที่ผลการสำรวจสำมะโนประชากรออตโตมันเมื่อปี 1914 มีชาวยิวอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์เพียงแค่ 1% เท่านั้น ขณะที่ประชากรกว่า 90% เป็นชาวมุสลิม หรือชาวอาหรับที่นับถือคริสต์

อีกทั้ง ต่อมา ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ของชาวยิวในยุโรป 'ไซออนิสต์' เริ่มประสบความสำเร็จ จากการที่กลุ่มนี้อ้างว่า ดินแดนปาเลสไตน์คือบ้านเกิดของชาวยิวตามคัมภีร์ไบเบิล

สภาพความเสียหายในฉนวนกาซา จากการถูกอิสราเอลโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ 7 ตุลาคม  2566
สภาพความเสียหายในฉนวนกาซา จากการถูกอิสราเอลโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2566

...

ชาวปาเลสไตน์-ยิวเริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน

หลังจากอังกฤษปกครองดินแดนปาเลสไตน์ ก็ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวยิวในตอนนั้น ว่าถ้ามาช่วยรบจนชนะจะมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้ โดยเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษร่วมด้วยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้อังกฤษอนุญาตให้ชาวยิวย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ตามที่สัญญา

ในขณะที่ชาวยิวอ้างว่า นี่คือแผ่นดินที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยอาศัยอยู่มาตั้งแต่พันปีก่อน จึงพากันกลับมายังดินแดนปาเลสไตน์ และแน่นอนว่าทำให้ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย จึงมีการใช้ความรุนแรง เพื่อขับไล่ชาวยิว 

UN รับมติ 'แบ่งดินแดนปาเลสไตน์เป็นสองส่วน'

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกครั้ง จนมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเพื่อเป็นองค์กรกลางในการระงับข้อพิพาทต่างๆ ด้วยสันติวิธี

ทำให้ในปี 1947 สมาชิกสหประชาชาติได้รับรองมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วนเพื่อตั้งรัฐเอกราชทั้งคู่ โดยส่วนหนึ่ง คือรัฐของชาวยิว และอีกส่วนเป็นรัฐของชาวอาหรับขณะที่ สหประชาชาติยังได้กำหนดให้นครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม มีสถานะ เป็นเมืองกลาง ไม่ตกอยู่ในความครอบครองของทั้งยิวและอาหรับ

...

จากการที่สหประชาชาติรับรองมตินี้ ทำให้ต่อมาชาวยิวได้มีการประกาศเอกราชของรัฐตัวเองขึ้น และตั้งชื่อประเทศว่าอิสราเอล ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักของ ชาวปาเลสไตน์และบรรดาชาติอาหรับ เพราะเห็นว่าชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในดินแดนนี้เป็นร้อยปีแล้ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล แถลงข่าวขณะไบเดนมาเยือนกรุงเทลอาวีฟ เมื่อ 18 ตุลาคม 2566 หารือสงครามครั้งใหม่อิสราเอล-ฮามาส
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล แถลงข่าวขณะไบเดนมาเยือนกรุงเทลอาวีฟ เมื่อ 18 ตุลาคม 2566 หารือสงครามครั้งใหม่อิสราเอล-ฮามาส

สงครามอิสราเอล-อาหรับ จนมาถึงกลุ่มฮามาส

การที่สหประชาชาติรับรองมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์เป็นสองส่วน ได้จุดชนวนให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล และสงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอิสราเอลในปี 1949 ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับ 750,000 ต้องอพยพ ไร้ที่อยู่ และดินแดนปาเลสไตน์ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ อิสราเอล เขตเวสต์แบงก์ (ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน) และฉนวนกาซา

จากนั้นอิสราเอลได้ทำสงครามกับชาติอาหรับครั้งแรก กระทั่งมาถึงสงครามกับชาติอาหรับครั้งที่ 3 ที่เรียกว่า 'สงคราม 6 วัน' ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน ในปี 1967 ซึ่งอิสราเอลเป็นฝ่ายกำชัยชนะเหนือชาติอาหรับ นำโดยอียิปต์ ซีเรียและจอร์แดน ทำให้อิสราเอลสามารถยึดครองฉนวนกาซา และคาบสมุทรไซนายจากอียิปต์ รวมทั้งเยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดน และที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย

ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ได้มีการจัดตั้ง องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) นำโดยยัสเซอร์ อาราฟัต ในปี 1964 เพื่อพยายามจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ให้เป็นเอกราช จนมาถึงการกำเนิดขึ้นของกลุ่มฮามาส ในปี 1987 ซึ่งกลุ่มฮามาส เป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ที่เคร่งศาสนาอิสลาม และสาบานว่าจะทำลายล้างอิสราเอล 

กระทั่งกลุ่มฮามาสเปิดฉากบุกโจมตีอิสราเอลช็อกโลก เมื่อ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนสร้างประวัติศาสตร์ทำให้มีผู้เสียชีวิตในอิสราเอลถึง 1,300 ศพ ซึ่งถือเป็นการโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอิสราเอลภายในวันเดียวในรอบ 75 ปี จนทำให้อิสราเอลตอบโต้อย่างหนักหน่วง เกิดสงครามครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยว เบนจามิน เนทันยาอู กับกองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาส ที่ส่อเค้าบานปลายอย่างน่ากลัว

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : global-conflict-tracker ,BBC