วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปส่อง “ดินแดนขุมทรัพย์แห่งโลกอนาคต” กันนะครับ วันนี้กระแส Global South หรือ ประเทศกำลังพัฒนา กำลังมาแรง เวทีประชุมของชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม G20 หรือ กลุ่ม BRICS ต่างก็ให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาเป็นพิเศษ เชิญไปร่วมประชุมเปิดรับสมาชิกใหม่ สาเหตุที่ชาติมหาอำนาจหันมาสนใจประเทศกำลังพัฒนา นอกจากเรื่อง การแบ่งขั้วอำนาจของโลก การกลับมาของสงครามเย็น ก็คือ “มหันตภัยโลกร้อน” ที่กำลังคุกคามทุกภูมิภาคของโลก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะ ละตินอเมริกา และ แอฟริกา กลายเป็นดินแดนแห่งความหวังของโลกที่จะช่วยบรรเทาความหายนะจากวิกฤติโลกร้อนในอนาคต

เป็นข้อมูลในคอลัมน์ Money Monitor ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับตุลาคม ที่ผมเห็นน่าสนใจอย่างยิ่งเลยขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ละตินอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 3,000 ล้านไร่ เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ โลหะมีค่า และพลังงาน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรกลับไม่ช่วยให้ประเทศในละตินอเมริกาเจริญรุ่งเรือง ซ้ำนำความทุกข์ยากเข้าสู่ประเทศ ถูกชาติตะวันตกเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากความมั่งคั่ง ตกเป็นเมืองขึ้นอาณานิคม แม้จะได้อิสรภาพเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่ ทองคำ แร่เงิน น้ำมันดิบ ก็ถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯและยุโรปอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าถูกสูบไปจนละตินอเมริกาผอมโซ

แต่วันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกา ขยายโครงข่าย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เข้าไปในละตินอเมริกาและแอฟริกา ทำให้ชาติตะวันตกหันมาสนใจประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกาอีกครั้ง เพราะ ละตินอเมริกาไม่เพียงมีแร่และโลหะมีค่าสำหรับใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก เพื่อรองรับพลเมืองโลกที่จะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคนในปี 2050 อีกด้วย

...

รายงานใน วารสารการเงินธนาคาร ระบุว่า ละตินอเมริกา มีสัดส่วนแหล่งแร่โลหะที่ใช้ในกระบวนการผลิต พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ รถยนต์ไฟฟ้า ราว 20% ของปริมาณสำรองของทั้งโลก เช่น ทองแดง โลหะสำคัญที่ใช้ในเทคโนโลยีสีเขียว โดยมีแหล่งผลิตอยู่ใน ชิลี เปรู มากที่สุดในโลก การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต้องใช้แร่ทองคำ 3—4 เท่าจากที่ใช้ผลิตรถยนต์สันดาป การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมก็ต้องอาศัยทองแดงเป็นส่วนประกอบในกังหันลมและอุปกรณ์การผลิต

สำนักวิจัยด้านพลังงานทางเลือก ประเมินว่า ความต้องการใช้ทองแดงในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ขาดแคลนราว 7-8 ตันต่อปีภายในปี 2035 อันเป็นผลจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และการใช้ทองแดงเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ

แร่ลิเธียน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ละตินอเมริกา ก็มีสัดส่วนสำรองสูงถึง 60% ของสำรองที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมีปริมาณสำรองมากที่สุดใน ชิลี โบลิเวีย และ อาร์เจนตินา จนถูกเรียกขานว่า The Golden Triangle of Lithium ยิ่งกว่านั้น โบลิเวีย และ บราซิล ยังเป็นแหล่งแร่ ดีบุก แกรไฟต์ และ นิกเกิล ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่พลังงานสูงจำนวนมากอีกด้วย

วงการยานยนต์โลกประเมินว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าภายในปี 2030 หรือราว 250 ล้านคัน ซึ่งจะทำให้แร่โลหะมีค่าขยายตัวตามไปด้วย ส่วน แอฟริกา คาดว่า จะ ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เกือบ 600 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2050 และยังเป็นผู้ผลิต ก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อช่วยลดโลกร้อนได้ราว 450 ล้านตันในปี 2050 อีกด้วย

นี่คือ ขุมทรัพย์แห่งโลกอนาคต ที่ซ่อนอยู่ใน ละตินอเมริกา และ แอฟริกา ทำให้ละตินอเมริกาและแอฟริกากลับมาเป็นที่หมายของชาติมหาอำนาจโลกอีกครั้ง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม