เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากหน่วยงานสหประชาชาติ เก็บตัวอย่างปลาจากตลาด ใกล้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไปตรวจสอบ หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงงานแห่งนี้ลงทะเล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 19 ต.ค. 2566 ว่า ทีมเจ้าหน้าที่จากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จาก จีน, เกาหลีใต้ และแคนาดา เดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเก็บตัวอย่างปลาจากตลาด, น้ำ และสารตกตะกอนต่างๆ ใกล้กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ แล้วในสัปดาห์นี้ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นหลังจาก ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหาในการจัดเก็บ เนื่องจากน้ำดังกล่าวสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554 จนเกิดหายนะนิวเคลียร์ครั้งใหญ่

เรื่องดังกล่าวทำให้ จีนกับรัสเซียตัดสินใจยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะพยายามยืนยันว่า น้ำปนเปื้อนดังกล่าวผ่านการกรองด้วยระบบ ALPS ซึ่งกรองกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ได้ยกเว้น ทริเทียม และถูกนำมาเจือจางอีกครั้งด้วยน้ำทะเล จนกัมมันตรังสีอยู่ในระดับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อนจะปล่อยลงทะเล

ญี่ปุ่นยืนยันว่า วิธีนี้ได้รับการรับรองจาก IAEA แล้ว และผลการตรวจสอบก็พบว่า ระดับของสารทริเทียมก็อยู่ภายใต้ขีดจำกัดความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม นายพอล แมกจินนิตี หนึ่งในสมาชิกทีมตรวจสอบของ IAEA บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เป้าหมายของการตรวจสอบครั้งนี้คือ ว่าห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่นตรวจวัด และวิเคราะห์ระดับของสารทริเทียมได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

...

“ทริเทียมเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะระดับทริเทียมน่าจะสูงขึ้นเพราะอย่างที่คุณรู้ มันไม่ถูกกรองออกไปด้วยกระบวนการ ALPS” แมกจินนีตีกล่าว “ผมบอกได้ว่า เราไม่คาดว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ (ของระดับทริเทียม) ในปลา แต่เราคาดว่าน้ำทะเลในจุดที่ใกล้กับจุดปล่อยน้ำจะมีระดับของทริเทียมสูงขึ้นเล็กน้อย”

“เราคาดว่าจะวัดระดับทริเทียมได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราวัดเมื่อปีก่อนมากๆ”

ทั้งนี้ ตัวอย่างต่างๆ จะถูกส่งกลับไปยังห้องทดลองในประเทศแม่ของสมาชิกทีมตรวจสอบแต่ละคน เพื่อดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ โดยที่ IAEA จะเป็นผู้ประเมินและเผยแพร่ผลลัพธ์ที่ออกมา

ที่มา : cna