การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์มองถึงความจำเป็นที่ต้องมีนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นวัสดุที่ใช้ได้ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ในอังกฤษเผยได้คิดค้น “สี” หรือ “สารเคลือบชีวภาพ” ถูกออกแบบให้ห่อหุ้มแบคทีเรียที่มีชีวิตไว้ภายในชั้นต่างๆของสี ซึ่งนอกจากดักจับคาร์บอนแล้ว พวกมันยังทำหน้าที่เป็นเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพหรือไบโอเซ็นเซอร์อีกด้วย ผลงานของนักวิจัยจากเซอร์เรย์มีชื่อว่า “Green Living Paint” ประกอบด้วย Chroo coccidiopsis cubana ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อผลิตออกซิเจนในขณะที่จับคาร์บอนไดออกไซด์ แบคทีเรียสายพันธุ์นี้มักพบในทะเลทราย มันจึงต้องการน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อความอยู่รอด จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะสุดขั้ว

ผลการทดสอบ Chroococcidiopsis cubana ภายในสารเคลือบชีวภาพ พบว่ามันผลิตออกซิเจนได้มากถึง 0.4 กรัม/กรัมของมวลชีวภาพ/ต่อวัน และดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อตรวจวัดออกซิเจนแบบต่อเนื่องก็ไม่พบสัญญาณของกิจกรรมที่ลดลงตลอดทั้งเดือน ในทางตรงกันข้าม นักวิจัยทำการทดลองที่คล้ายกันกับแบคทีเรีย Synechocystis sp. ซึ่งเป็นไซยาโนแบคทีเรียอีกชนิดที่มักเจอในน้ำจืด ทีมพบว่ามันไม่อาจผลิตออกซิเจนภายในสารเคลือบชีวภาพได้ นักวิจัยระบุว่า “สีพิเศษ” ที่คิดค้นใหม่นี้อาจนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงอย่างสถานีอวกาศได้ในอนาคต.


อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...