กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่ถูกส่งขึ้นไปทำงานเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำให้เรามองเห็นการมีอยู่ของสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็น “กาแล็กซีขนาดใหญ่ที่เจริญเต็มที่ในช่วงที่เอกภพหรือจักรวาลยังเยาว์วัย” ซึ่งความที่มันใหญ่เกินไปและเร็วเกินไป ทำให้นักวิทยาศาสตร์ดิ้นรนหาคำอธิบาย พร้อมตั้งคำถามกับหลักการพื้นฐานของสาขาวิชาจักรวาลวิทยาและวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับต้นกำเนิดและพัฒนาการของจักรวาล

ล่าสุด นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธ เวสเทิร์น ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เผยการศึกษาใหม่ที่คาดว่าอาจไขปริศนาว่ากาแล็กซีแรกสุดของจักรวาล วิวัฒนาการมาอย่างไร จากการใช้แบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน โดยวัดความสว่างของกาแล็กซีในยุคแรกๆได้อย่างแน่นหนา เนื่องจากโฟตอนที่เป็นอนุภาคของแสง ถูกตรวจจับได้โดยตรง แต่ในทางกลับกันก็ยากมากที่จะระบุได้ว่ากาแล็กซีเหล่านั้นใหญ่หรือมีมวลมากจริงๆ เพราะดูเหมือนว่าพวกมันจะใหญ่เพราะว่าพวกมันสว่างไสว

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาใหม่พบว่า บรรดากาแล็กซีที่เกิดขึ้นในช่วงจักรวาลยังมีอายุเยาว์ น่าจะมีขนาดค่อนข้างเล็กตามที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่พวกมันอาจส่องแสงเจิดจ้าพอๆกับกาแล็กซีขนาดใหญ่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนลวงตาว่ามีมวลมหาศาล นั่นก็เพราะเนื่องมาจากการปะทุของการก่อตัวดาวฤกษ์อย่างกะทันหัน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่