“ไอฟ์มาน บัลเล่ต์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกของคอนเทมโพรารี แดนซ์ หรือการออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยที่ผสานท่วงท่าของ “โมเดิร์นแดนซ์” เข้ากันอย่างกลมกลืนกับ “บัลเล่ต์คลาสสิก” ที่เปี่ยมด้วยความสง่างามและท่วงท่าการเคลื่อนไหวอันลื่นไหล เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงมีความโดดเด่นและแตกต่างจากคณะบัลเล่ต์ที่เน้นการลอกเลียน หรือ “โคลนนิง” รูปแบบ การเต้นสมัยใหม่กันซ้ำไปซ้ำมา”

เป็นคำตอบชัดเจนของ “บอริส ไอฟ์มาน” หนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นชั้นนำของโลกชาวรัสเซีย ผู้ก่อตั้ง “ไอฟ์มาน บัลเล่ต์” คณะบัลเล่ต์ชื่อก้องจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และได้รับการขนานนามว่าเป็น “พ่อมดเปี่ยมเวทมนตร์แห่งโรงละคร” ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวต่างประเทศไทยรัฐหลายวันก่อน เมื่อถูกขอให้อธิบายถึงความพิเศษของ “ไอฟ์มาน บัลเล่ต์” แก่ผู้ที่ไม่เคยได้ชมมาก่อน

ในโอกาสที่ไอฟ์มาน บัลเล่ต์ เตรียมนำผลงานบัลเล่ต์ชิ้นเอก “อันนา คาเรนินา” จากวรรณกรรมอมตะของ “เลโอ ตอลสตอย” มาเปิดการแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกใน มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok’s International Festival of Dance & Music) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 21-22 ต.ค. นี้

ไอฟ์มานยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลงานการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาล้วนมุ่งนำเสนอโลกอันน่าพิศวงของมนุษย์ ทั้งความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณและความรู้สึก โดยพยายามผสานการเต้นรำให้เข้ากับองค์ประกอบพื้นฐานของศิลปะการละคร น่าเสียดายที่สิ่งนี้ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ 20 จึงทำให้คณะบัลเล่ต์ของไอฟ์มานมีความโดดเด่นทั้งด้านการแสดงละครจริงจัง ขณะเดียวกันยังชวนผู้ชมดำดิ่งสู่ห้วงลึกของจิตใจ ส่งมอบพลังทางอารมณ์แก่ผู้ชมชนิดหาคนเทียบได้ยาก

...

ยังกล่าวเสริมด้วยว่าในอดีตเคยมีนักวิจารณ์รายหนึ่งเขียนถึงตนเองว่า “ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดไอฟ์มาน ชายผู้นี้ไม่ปล่อยให้ใครเมินเฉย หรือไม่แยแสผลงานของเขาได้” ซึ่งตนก็เห็นด้วย เพราะเชื่อมั่นว่าผลงานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และประเด็นสำคัญก็คือ อยากให้ผู้ชมพยายามเปิดรับงานศิลปะด้วยใจที่เปิดกว้าง

ส่วนเหตุผลที่เลือกนำการแสดง “อันนา คาเรนินา” นั้นก็เพราะเป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของคณะ ได้เปิดการแสดงมาแล้วทั่วโลกบนโรงละครที่ดีที่สุดทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม

สำหรับประเด็นที่อันนา คาเรนินา ถูกคณะบัลเล่ต์จากหลายแห่งทั่วโลกนำมาถ่ายทอดนั้น มีกลยุทธ์อย่างไรให้ฉีกแนวจากคณะอื่นๆ ไอฟ์มานเผยว่าได้ตัดส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาหลักทั้งหมดของวรรณกรรมออกไปและมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นโศกนาฏกรรม “รักสามเส้า” ของ 3 ตัวละครหลักอย่างอันนา นางเอกผู้เป็นศูนย์กลางของเรื่อง คาเรนิน ผู้เป็นสามี และวรอนสกี ชู้รัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการแสดงจาก “ไอฟ์มาน บัลเล่ต์” ไม่ได้บอกเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา แต่เจาะลึกการตีความ การค้นหาความหมายและอารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในแต่ละตัวอักษรผ่านการออกแบบท่าเต้นอันงดงามทรงพลัง การเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนและการแสดงออกทางสีหน้าของนักเต้น สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและแรงปรารถนาของตัวละคร สอดผสานด้วยบทเพลงคลาสสิกของไชคอฟสกี

ส่วนกระบวนการสร้างสรรค์ท่าเต้น อยากรู้ ความลับว่านึกคิดท่วงท่าออกได้อย่างไร เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ไอฟ์มานกล่าวว่าออกแบบท่าเต้นมาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่ามันออกมาได้อย่างไร เป็นความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ น่าเสียดายที่ยังไม่พบสูตรสำเร็จในการสร้างสรรค์ท่วงท่าได้อย่างไร้ข้อผิดพลาด ไม่เช่นนั้นก็คงจะช่วยประหยัดเวลา พละกำลัง ช่วยถนอมสุขภาพไปได้มาก ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ก็คือการใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันทำงานในห้องซ้อมที่ใช้ออกแบบท่าเต้น นอกเหนือไปจากการอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ รวมทั้งฟังเพลง ทั้งหมดล้วนเป็นที่มาสำคัญของแรงบันดาลใจ ไปพร้อมๆกับการรวบรวมสมาธิและความมุ่งมั่นตั้งใจในการเตรียมงานอย่างจริงจัง

สุดท้ายนี้นอกเหนือจากอันนา คาเรนินา คณะบัลเล่ต์ไอฟ์มานยังมีผลงานดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิกของรัสเซีย อย่างเช่น ยูจีน โอเนกิน โดยอเล็กซานเดอร์ พุชกิน หรือพี่น้องคารามาซอฟ ของฟิโอดอร์ ดอสตอเยฟสกีรวมทั้งเดอะ ซีกัลล์ ของอันโตน เชคอฟ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอการแสดงเหล่านี้ในไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียในปีต่อๆไป ยังตบท้ายด้วยว่าเตรียมเปิดการแสดงชุดใหม่ดัดแปลงจากนวนิยายเลื่องชื่อ “อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์” ของดอสตอเยฟสกี ที่นครเซนต์ปีเตอร์ สเบิร์กและกรุงมอสโก ในเดือน ก.ค.2567

ไอฟ์มานกล่าวขอบคุณผู้จัดมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ที่นำ “ไอฟ์มาน บัลเล่ต์” มาแสดงครั้งแรกในประเทศไทย ปิดท้ายการจัดงานครบรอบ 25 ปีในปีนี้ หวังว่าจะสร้างความประทับใจเป็นที่จดจำแก่ผู้ชม เพราะสุดท้ายแล้วท่วงท่าการเต้นรำอยู่เหนือความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และจิตใจ.

...

ทีมข่าวต่างประเทศ

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม