ผลการวิจัยใหม่ของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพบว่า จำนวนสายพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 41% แล้ว โดยผลกระทบจากโลกร้อนกำลังสูงขึ้น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยผลการวิจัยใหม่จากการศึกษาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 8,011 สายพันธุ์ ผ่านวารสาร Nature โดยพบว่า กว่า 41% จำนวนนี้กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นจากการวิจัยครั้งแรกในปี 2547 ที่ตัวเลขประเมินอยู่ที่ 39% ของสายพันธุ์ทั้งหมด
กิจกรรมของมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกระทบต่อสมดุลของโลก สร้างความเสียหายต่อสัตว์และพืชประจำถิ่น และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีสถานการณ์ไม่สู้ดีที่สุดในหมู่สัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยตัวเลขประเมินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์อยู่ที่ 27% ของสายพันธุ์ทั้งหมด, สัตว์เลื้อยคลานอยู่ที่ 21% และสัตว์ปีกอยู่ที่ 13%
การประเมินดังกล่าวจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,000 คนทั่วโลก โดยสัตว์ที่ถูกจัดว่าเสี่ยงสูญพันธุ์หมายความว่า มันถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤติ (critically endangered), อยู่ในอันตราย (endangered), หรือเสี่ยงอันตราย (vulnerable) ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่สงวนและแผนการอนุรักษ์ต่างๆ ถูกออกแบบมาเอนเอียงไปทางความจำเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ส่วนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลุดรอดไปตามช่องโหว่” นางเจนนิเฟอร์ ลุดต์คี (Jennifer Luedtke) นักอนุรักษ์ขององค์กรไม่แสวงกำไร Re:wild ในรัฐเทกซัส ผู้ประสานงานเจ้าหน้าที่จัดทำบัญชีแดงของ IUCN กล่าว
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำปรากฏขึ้นมาบนโลกมากกว่า 300 ล้านปีก่อน โดยมีเพียง 3 อันดับ (order) ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคือ อันดับกบ (Order Anura) อันดับเขียดงู (Order Gymnophiona) และอันดับซาลาแมนเดอร์ (Order Caudata/Urodela) โดยเสี่ยงสูญพันธุ์ 39%, 16% และ 60% ตามลำดับ
...
ทีมนักวิจัยยังพบว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ กบในออสเตรเลีย, กบกับซาลาแมนเดอร์จากกัวเตมาลา และคางคกจากคอสตาริกา หายไปแล้วนับตั้งแต่การประเมินในปี 2547 และมีอีก 185 สายพันธุ์ที่อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากยังไม่พบประชากรที่ยังมีชีวิตอยู่ของพวกมัน
การทำลาย และการเสื่อมถอยของถิ่นที่อยู่ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการทำการเกษตรและปศุสัตว์ คิดเป็น 93% ของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงครึ่งบกครึ่งน้ำที่เสี่ยงสูญพันธุ์ทั้งหมด แต่ผลกระทบจากโรคภัย และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังขยายส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นตามมา
“สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกมันหายใจทางผิวหนัง” นางเคลซีย์ นีม ผู้ร่วมเขียนผลวิจัยนี้ระบุ “ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว, เปลี่ยนแปลงความชื้นและอุณหภูมิ, ระดับน้ำทะเลและป่า อาจทำให้เกิดการสูญเสียแหล่งเพาะพันธุ์สำคัญ เพิ่มอัตราการตาย, การเสื่อมของถิ่นที่อยู่ และเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ ทำให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหาที่อยู่ที่เหมาะสมได้ยากขึ้น”
ผลการวิจัยยังพบความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการซื้อขายสัตว์และการล่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นอาหาร โดยพื้นที่ที่มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกระจุกตัวกันหนาแน่นที่สุดคือ บนเกาะในทะเลแคริบเบียน, เม็กซิโก และอเมริกากลาง, ภูมิภาคทรอปิคอลแอนดีส (tropical Andes), อินเดีย, ศรีลังกา, แคเมอรูน, ไนจีเรีย และมาดากัสการ์.
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cna