“ไมโครพลาสติก” (Microplastics) เป็นอนุภาคที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร และเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม

ที่ผ่านๆมามีการตรวจพบอนุภาคจิ๋วๆ พวกนี้ในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งดินแดนที่ไม่น่าเชื่อว่าไมโครพลาสติกจะไปถึง จึงก่อความกังวลว่า ไมโครพลาสติกจะเข้าถึงในสถานที่ที่เราไม่พึงปรารถนามากที่สุด ทั้งแหล่งน้ำดื่มและแหล่งอาหาร ไปจนถึงอวัยวะของมนุษย์ หรือแม้แต่ทารกในครรภ์ของมารดา เพราะยังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษที่มาจากไมโครพลาสติก ซึ่งก่อนหน้านี้ งานวิจัยบางฉบับก็นำเสนอว่าพวกมันมีความเชื่อมโยงกับโรคต่างๆ เช่น ภาวะสมองเสื่อมและอาการลำไส้แปรปรวน

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยโอโคจิ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ในญี่ปุ่น ได้รายงานว่า หลังจากได้ปีนภูเขาฟูจิและภูเขาโอยามะ ในญี่ปุ่น เพื่อรวบรวมน้ำจากหมอกหนาที่ปกคลุมยอดเขา และนำตัวอย่างที่ได้มาไปแยกวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติ ผลวิเคราะห์ก็ได้ค้นพบสิ่งที่น่าตกใจก็คือ มีโพลีเมอร์ 9 ชนิด และวัสดุที่มีความยืดหยุ่น 1 ชนิดอยู่ในไมโครพลาสติกบนอากาศท่ามกลางหมู่เมฆ

ทีมอธิบายว่าน้ำแต่ละลิตรที่เก็บมานั้น บรรจุไมโครพลาสติกอยู่ 6.7 ชิ้น ถึง 13.9 ชิ้น ซึ่งวัดขนาดได้ตั้งแต่ 7.1 ไมโครเมตร ถึง 94.6 ไมโครเมตร หรือประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งนี่เป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกที่ปนอยู่ในน้ำของเมฆที่ลอยอยู่กลางอากาศ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับสภาพอากาศ

นักวิจัยยังระบุถึงความน่ากังวลกว่านั้นก็คือ โพลีเมอร์ที่มีความสามารถในการดูดซึมน้ำนี่แหละ เมื่อมีจำนวนมากเกินปกติในสภาพอากาศก็เสี่ยงที่จะโดนรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ทำลายพันธะของโพลีเมอร์ที่เป็นพิษเหล่านี้ และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

...

อย่างไรก็ตาม รายงานใหม่นี้ไม่ใช่รายงานแรก ที่บันทึกถึงขยะพลาสติกในชั้นบรรยากาศ เพราะในปี 2562 มีการตรวจพบเศษพลาสติกสีรุ้งกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ในรัฐโคโลราโด รวมถึงยอดเขาของอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกี้ ของสหรัฐฯ หลังจากทีมสำรวจทาง ธรณีวิทยาสหรัฐฯ พบว่ามีพลาสติกใน 90% ของน้ำฝนทั้งหมดที่ตกลงมา โดยพวกเขาได้เก็บตัวอย่างเหล่านี้ในระหว่างการศึกษา.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม