รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลก ได้รวมตัวกันที่กรุงมาดริด หารือวิกฤติโลกร้อน ก่อนการประชุม COP28 ด้านรมว.พลังงานสเปนเรียกร้องทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส
สำนักข่าวต่างประเทศวันที่ 3 ต.ค. 2566 รายงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลก ได้รวมตัวกันที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ก่อนการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ที่จะจัดขึ้น ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
เทเรซา ริเบรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสเปน กล่าวเปิดการประชุมกับบรรดารัฐมนตรีพลังงานและผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลกวานนี้ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นปัญหาระดับโลก และจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากทุกประเทศ ซึ่งสเปน ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ต้องการผลักดันให้นานาชาติร่วมมือกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสปี 2558 (The Paris Agreement) ที่มีสาระสำคัญว่าด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิก่อนยุคการพัฒนาอุตสาหกรรม
นางริเบรายังได้เตือนอีกว่า การประชุม COP28 ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2566 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นการประชุมที่มี "ความท้าทาย" เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปที่เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
...
ฟาติห์ บิรอล ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA กล่าวว่า ในการประชุม COP28 ที่ถึงนี้ ที่ประชุมมีเงื่อนไข 5 ประการ ที่จะต้องพิจารณาให้สำเร็จ เช่น การเพิ่มงบประมาณสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่า การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานสะอาดเป็นสองเท่า และการจัดทำข้อตกลงเพื่อสนับสนุนการจัดหาเงินทุนด้านพลังงานสะอาดให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศบราซิลพบซาก‘โลมาแม่น้ำแอมะซอน’ ตายอยู่ในทะเลสาบกว่า 120 ตัวแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าสาเหตุการตายเกิดจากภัยแล้งที่ทำให้น้ำในแม่น้ำลดลง และอากาศร้อนอย่างรุนแรง
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างมองว่า สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกตินี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ซึ่งทำให้ภัยแล้งและคลื่นความร้อนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา: Aljazeera 1, 2, DW