• สหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับวิกฤติผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าประเทศ โดยการอพยพเข้ามามีทั้งแบบถูกกฎหมายและลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งในเวลานี้มีรายงานผู้ลักลอบอพยพข้ามแดนแตะระดับสูงสุดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว
  • หนึ่งในเมืองที่ผู้อพยพมุ่งหน้าเดินทางเข้ามามากที่สุดคือนครนิวยอร์ก โดยเป็นผู้อพยพที่มาจากชายแดนทางใต้ เนื่องจากนิวยอร์กให้การดูแลผู้อพยพเป็นอย่างดี
  • รัฐบาลของโจ ไบเดน กำลังทุ่มกลยุทธ์เป็นสองเท่าเพื่อเร่งจัดการกับปัญหาการย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วภาคตะวันตกเฉียงใต้

ตัวเลขของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่พยายามลักลอบข้ามแดนเข้ามายังสหรัฐฯ กำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนชายแดนของสหรัฐฯ ต้องเจอกับผู้อพยพราว 9,000 คนต่อวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทางใต้ของรัฐแอริโซนา ภูมิภาคทูซอน และทางตอนใต้ของรัฐเทกซัสที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ โดยหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องปิดการเดินรถไฟ และปิดการจราจรบริเวณทางข้ามพรมแดนหลายเส้นทางในพื้นที่รัฐเทกซัสเพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้ามา

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาตำรวจตระเวนชายแดนสหรัฐฯ สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายบริเวณพรมแดนทางตอนใต้ 181,059 ราย เพิ่มขึ้นมาจาก 132,648 คนในเดือนกรกฎาคม ขณะที่พรมแดนตะวันตกเฉียงใต้ มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้อพยพมากกว่า 232,000 ครั้ง ซึ่งนับว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนในเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีการเผชิญหน้ากับผู้อพยพทั่วประเทศมากถึงกว่า 300,000 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่อยู่ที่ 245,213 ครั้ง ซึ่งนับเป็นตัวเลขรายเดือนที่ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เคยมีมาภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

...

การเพิ่มจำนวนของผู้อพยพในเวลานี้ มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลของโจ ไบเดน กำลังทุ่มกลยุทธ์เป็นสองเท่าเพื่อวางมาตรการต่างๆ เพื่อเร่งจัดการกับปัญหาการย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วภาคตะวันตกเฉียงใต้จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังดำเนินการไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาผู้อพยพ

ขยายการเนรเทศ

รัฐบาลภายใต้การนำของโจ ไบเดน เพิ่งประกาศแนวทางเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทางรัฐบาลจะมีการขยายการเนรเทศให้รวมไปถึงผู้อพยพที่มาเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าจะไม่สามารถใช้เด็กๆ มาเป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับได้อีกต่อไปและยังจะมีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่อีก 800 นาย ให้แก่หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนด้วย

ในขณะเดียวกันทางภาครัฐจะขยายระยะเวลาสำหรับการอนุญาตทำงานและการปกป้องการส่งตัวกลับสำหรับชาวเวเนซุเอลา ซึ่งจะครอบคลุมถึงชาวเวเนซุเอลา 472,000 คน โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ยังคงมีกระบวนการทำทัณฑ์บนสำหรับชาวคิวบา เฮติ นิการากัว และเวเนซุเอลา ที่ประกาศใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าผู้ที่อพยพเข้ามาจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และจะปฏิเสธคนที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องได้อย่างตรงไปตรงมา

นอกจากการวางมาตรการภายในประเทศแล้ว ล่าสุดยังมีความพยายามในการหาความร่วมมือกับประเทศต้นทาง อย่างฮอนดูรัส เพื่อลดปัญหาผู้อพยพหนีข้ามแดน โดย รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ได้นัดหารือกับประธานาธิบดีฮอนดูรัส เพื่อหาแนวทางร่วมกันที่จะลดจำนวนผู้ลักลอบข้ามแดนในอนาคตต่อไป เช่นเดียวกับการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกลางและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อประสานงานในการควบคุมการไหลเข้ามาของผู้อพยพต่างชาติ

นับจนถึงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลของนายโจ ไบเดน มีการส่งกลับผู้อพยพไปแล้วมากกว่า 233,000 คน จาก 152 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้อพยพที่มาเป็นครอบครัวมากกว่า 36,000 คน

สำหรับสาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการลักลอบข้ามแดนจำนวนมาก ก็คือขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่าการอพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่เรื่องการลักลอบนำพาคนข้ามแดน ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ขบวนการเหล่านี้ ซึ่งมักจะช่วยสรรหาวิธี และช่วยจัดหาทางในการลักลอบเข้าประเทศแลกกับเงินจำนวนมาก

...

นิวยอร์กปลายทางยอดนิยมของผู้อพยพ

หนึ่งในเมืองที่ผู้อพยพมุ่งหน้าเดินทางเข้ามามากที่สุดคือนครนิวยอร์ก โดยเป็นผู้อพยพที่มาจากชายแดนทางใต้ เนื่องจากนิวยอร์กให้การดูแลผู้อพยพเป็นอย่างดี จากกฎหมายที่รับรองให้จัดหาที่พักให้แก่ผู้ที่ร้องขอ โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้อพยพเข้ามายังนิวยอร์กหลายแสนคน ทำลายสถิติจนทางการท้องถิ่นบริหารจัดการแทบไม่ไหว และตัวเลขก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้านนายอีริค อดัมส์ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ระบุว่า นี่คือวิกฤติด้านมนุษยชน ที่ทำให้นครนิวยอร์กต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายราว 2 พันล้านดอลลาร์ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนิวยอร์กเคยประกาศตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพ 24 ชั่วโมง เพื่อต้อนรับผู้อพยพ

จนเมื่อฤดูหนาวที่แล้ว รัฐนิวยอร์กต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากในเวลานี้ นิวยอร์กแทบจะไม่มีห้องพักเหลือเพียงพอที่จะรองรับผู้อพยพได้อีกต่อไป โดยจนถึงเดือนกันยายนยังมีผู้อพยพมากกว่า 61,400 คนที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ขณะที่ยังมีผู้อพยพกระจายอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราวในนครนิวยอร์กรวมกว่า 115,200 คน และกำลังทยอยส่งไปพักตามโรงแรม ศูนย์พักพิงฉุกเฉิน โรงยิมของโรงเรียน และกำลังหาสถานที่ว่างอื่นๆ ที่จะตั้งเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวได้ ทำให้นายอดัมส์ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เพื่อให้สนับสนุนเงินทุนและออกใบอนุญาตทำงานเร่งด่วนให้แก่ผู้อพยพ เพื่อให้ผู้อพยพสามารถหารายได้ดูแลตัวเองได้และไม่เป็นภาระของทางการ

ทั้งนี้ ผู้อพยพที่เข้ามายังนิวยอร์กส่วนใหญ่คือชาวเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพจากทวีปแอฟริกา โดยส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในรัฐเทกซัส ที่มักส่งต่อมายังนิวยอร์ก ขณะที่บางส่วนมีจุดหมายที่ต้องการจะเข้ามายังนิวยอร์กด้วยตัวเอง ซึ่งหากยังไม่เร่งแก้ปัญหานี้ในระดับนโยบาย ปัญหาผู้อพยพในสหรัฐฯ อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ลุกลามเป็นวงกว้าง และส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : ABCnewsNYtimes

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ "ผู้อพยพ"