ท่ามกลางความอิ่มตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ยังคงมีบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่เจริญเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แถมยังสยายปีกขยายธุรกิจไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าของครองแชมป์มหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของญี่ปุ่นและติดโผรวยสุดเป็นอันดับ 40 ของโลก ด้วยสินทรัพย์ในครอบครองมากกว่า 26,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะที่กิจการของคู่แข่งในธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าพากันซบเซาลง แต่แบรนด์ “ยูนิโคล่” ของ “ทาดาชิ ยานาอิ” กลับเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อหลายปีก่อนเขาเคยประกาศว่าเป้าหมายของยูนิโคล่คือการก้าวจากเบอร์สามขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าระดับโลก ซึ่งครองตลาดอยู่โดย ZARA ที่มียอดขายปีละ 34,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ H&M ที่มียอดขายปีละ 21,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้เขาจะยังทำไม่สำเร็จ เพราะไปสะดุดในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้ยอดขายในประเทศจีนหล่นฮวบลง แต่แผนการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยียังคงเดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมๆกับการบริหารระบบซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยหัวใจสำคัญของการแข่งขันยุคใหม่คือ การออกแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนการผลิตได้อย่างแม่นยำและควบคุมการกระจายสินค้าได้ดี

ถามว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเจ้าพ่อยูนิโคล่ คำตอบคือการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆตลอดเวลานั่นเอง

“เราไม่ใช่บริษัทแฟชั่น เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี เราก็เหมือนบริษัทเทคโนโลยีเปิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเลือกว่าจะก้าวต่อไปหรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดใหม่ๆ ข้อบกพร่องที่แย่ที่สุดคือ การที่ใครสักคนไม่มีความกล้าพอจะลองสิ่งใหม่ เพราะถ้าล้มเหลว เราก็จะล้มเหลวอย่างภาคภูมิใจและสามารถพูดได้ว่าเราได้ลองทำแล้ว”

...

เมื่อประสบความสำเร็จถึงขีดสุดแล้ว “ทาดาชิ ยานาอิ” ในวัย 74 ยังห่วงโลกด้วย โดยเฉพาะในยุคหลังเกิดวิกฤติโควิด เขาให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผู้คนทั่วโลกในตอนนี้เริ่มมีแนวคิดเห็นแก่ตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็สนใจแต่ประเทศหรือสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเท่านั้น ซึ่งความคิดแบบนี้ทำให้หลายแห่งบนโลกเกิดปัญหาขึ้น ถ้าแต่ละประเทศเอาแต่เห็นแก่ตัวกันแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือบาดหมางกันได้ แถมยังมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นกันน้อยลงด้วย บางคนมองว่าปัญหาในเรื่องนี้เกิดจากความแตกต่างในเรื่องเผ่าพันธุ์หรือเชื้อชาติ ก็เลยไม่พยายามที่จะมองดูหรือคิดถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมตรงนี้ พอไม่มีมุมมองสัมพันธ์แล้ว เราก็กลายเป็นคนโลกแคบที่เคารพแต่วัฒนธรรมของตัวเองเท่านั้น มุมมองแคบๆแบบนั้นมันไม่มีพลังเชิงบวกเลย แถมโรคระบาดก็มาทำให้สถานการณ์ตรงนี้แย่ลงไปกว่าเดิมอีก เรื่องนี้เป็นภาวะเร่งด่วนที่คนทั่วโลกจะต้องมีความสามัคคีกัน แต่ดูเหมือนจะไม่มีวี่แววอะไรเลย อีกสิ่งหนึ่งที่กังวลคือ เราเริ่มที่จะพิจารณาอะไรจากมุมมองในด้านประวัติศาสตร์น้อยลง สภาพในปัจจุบันนี้เกิดจากการสั่งสมของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งสิ้น ถ้าเราไม่รู้หรือไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เราจะไม่เข้าใจปัจจุบันได้อย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ดี เขาคาดหวังว่า ยูนิโคล่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นผ่านการผลิตและการขายเสื้อผ้าคุณภาพดีที่สร้างสรรค์จากนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับการสร้างองค์กรที่เคารพในความหลากหลายและไม่ลืมที่จะคืนกำไรสู่สังคม เสื้อผ้าของยูนิโคล่จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่ทุกคนสามารถสวมใส่ได้อย่างสบายในทุกวัน เป็นเสื้อผ้าสำหรับทุกคนอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี, คนชั้นกลาง หรือคนหาเช้ากินค่ำ.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม