เสือแทสเมเนีย (Tasmanian tiger) หรือไธลาซีน (thylacine) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกมีกระเป๋าหน้าท้อง มีลายทาง ขนาดเท่าสุนัข ในอดีตพวกมันอาศัยในทวีปออสเตรเลียและเกาะใกล้เคียง เป็นนักล่าชั้นยอดแม้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่นักวิจัยยังไม่หยุดศึกษาพวกมัน ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักพันธุศาสตร์จากศูนย์พันธุศาสตร์บรรพชีวิน และไซไลฟ์แล็บในสวีเดน เผยว่า ได้ฟื้นคืน “อาร์เอ็นเอ” (RNA หรือกรดไรโบนิวคลีอิก) จากผิวหนังและกล้ามเนื้อแห้งของเสือแทสเมเนีย ที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2434 ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม นักวิจัยเผยว่าการจัดลำดับและวิเคราะห์อาร์เอ็นเอเก่า อาจช่วยสร้างสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปขึ้นมาใหม่
“อาร์เอ็นเอ” (RNA) เป็นสารพันธุกรรมที่มีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ “ดีเอ็นเอ” (DNA หรือกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก) ซึ่งเป็นโมเลกุลเกลียวคู่ที่มีรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต มียีนที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ขณะที่อาร์เอ็นเอเป็นโมเลกุลสายเดี่ยวที่นำข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้รับจากดีเอ็นเอมาใช้ และนำข้อมูลนี้ไปปฏิบัติจริง อาร์เอ็นเอจะสังเคราะห์โปรตีนจำนวนมากที่สิ่งมีชีวิตต้องการในการดำรงชีวิต และทำงานเพื่อควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ นักวิจัยเผยว่าการจัดลำดับอาร์เอ็นเอจะทำให้เห็นการควบคุมการเผาผลาญที่เกิดขึ้นในเซลล์และเนื้อเยื่อของเสือแทสเมเนียก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์
ส่วนอาร์เอ็นเออยู่รอดได้นานแค่ไหน เช่น ในอุณหภูมิห้อง ซึ่ง ซากเสือแทสเมเนียที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในสภาพกึ่งมัมมี่ ยังคงรักษาผิวหนัง กล้ามเนื้อและกระดูกไว้ แต่ไร้อวัยวะภายใน นักวิจัยส่วนใหญ่คิดว่าอาร์เอ็นเอจะอยู่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แค่วันหรือสัปดาห์ที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งอาจเป็นเช่นนั้นเมื่อซากหรือชื้น แต่ดูจะไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อซากแห้ง ทั้งนี้ การกู้คืนอาร์เอ็นเอจากไวรัสเก่ายังช่วยถอดรหัสสาเหตุของการระบาดใหญ่ในอดีตได้.
...