บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เตรียมการรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถาน ตามนโยบาย Visa Free ของรัฐบาล โดยได้ประสานงานและบูรณาการการอำนวยความสะดวกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมพร้อมบริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพ เพื่อคงระดับการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เห็นชอบนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน (Visa Free) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถานนั้น ในส่วนของ AOT ในฐานะประตูสู่ประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานที่จะเดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยได้มีการประชุมและประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบูรณาการการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น การจัดการตารางการบิน การอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง การตรวจค้น การจัด สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น
ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลตารางการบินฤดูร้อน ณ ทสภ. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา มีสายการบินแจ้งทำการบินเข้า-ออก ระหว่าง ทสภ.และท่าอากาศยานต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 23 ท่าอากาศยาน ทั้งหมด 25 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินจีน 22 สายการบิน และสายการบินไทย 3 สายการบิน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กันยายน 2566 มีสายการบินทำการบินระหว่าง ทสภ.และท่าอากาศยานต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 10,333 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้า 5,187 เที่ยวบิน และขาออก 5,146 เที่ยวบิน ขณะที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกรวม 1,606,340 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 829,739 คน และผู้โดยสารขาออก 776,601 คน อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free ทสภ.คาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 674 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 96 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 337 เที่ยวบิน เทียบกับข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นจริงช่วง 7 วันก่อนมีมาตรการ (ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน 2566) มีเที่ยวบินขาเข้าและขาออกรวม 509 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 72 เที่ยวบินต่อวัน) แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้า 254 เที่ยวบิน และขาออก 255 เที่ยวบิน ในส่วนประมาณการผู้โดยสาร คาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 130,593 คน (เฉลี่ย 18,656 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 65,584 คน ขาออก 65,009 คน เทียบกับข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นจริงช่วง 7 วันก่อนมีมาตรการ (ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน 2566) มีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 67,761 คน (เฉลี่ย 9,680 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 34,801 คน และขาออก 32,960 คน
สำหรับเที่ยวบินระหว่าง ทสภ.และสาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีเที่ยวบินรวม 6 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 3 เที่ยวบิน เท่ากับช่วงก่อนมีมาตรการ แต่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,338 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ขาละ 669 คน เทียบกับข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นจริงช่วง 7 วันก่อนมีมาตรการ (ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน 2566) ที่มีผู้โดยสาร 853 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 473 คน และผู้โดยสารขาออก 413 คน ด้านการเตรียมความพร้อมของ ทสภ.ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกนั้น ทสภ.ได้มีการบูรณาการการบริหารจัดการในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ กระบวนการผู้โดยสารขาเข้า คือ (1) ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ตม.) ขาเข้า 138 ช่องตรวจ (ช่องปกติ 118 ช่องตรวจ และช่อง Visa On Arrival อีก 20 ช่องตรวจ) และมีเครื่อง Auto Channel จำนวน 16 เครื่อง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง (กรณีที่มีการใช้งานทุกช่องตรวจ) ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 1,550 ตารางเมตร ซึ่ง ทสภ.ได้วางแนวทางดำเนินการกรณีเกิดความหนาแน่นบริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 11.00-16.00 น.) (2) ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสายพานรับกระเป๋าขาเข้าสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ 4 สายพาน และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 สายพาน โดยหากเกิดความหนาแน่นบริเวณสายพานรับกระเป๋า ทสภ.จะกำกับดูแลและติดตามเวลา First Bag และ Last Bag ของผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน ซึ่งปัจจุบันผู้รับสัมปทานผู้ให้บริการภาคพื้น (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด) สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2565 ในส่วนกระบวนการผู้โดยสารขาออก ณ ทสภ. ได้มีการบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆ ได้แก่
(1) ขั้นตอนการเช็กอิน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน แบบเดิม 302 เคาน์เตอร์ (ใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน) และมีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) จำนวน 50 เครื่อง (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) และกำหนดแนวทางการลดปัญหาความหนาแน่น โดยการทำ Early Check-in พร้อมประสานสายการบินให้นั่งเคาน์เตอร์ให้เต็ม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารใช้ CUSS และ CUBD
(2) บริการจุดตรวจค้น ซึ่งปัจจุบันมีจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวน 3 โซน เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง และมีการติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน วางแนวทางลดความหนาแน่น โดยเกลี่ยแถวในโซนจุดตรวจค้นที่หนาแน่น (3) ขั้นตอนการตรวจลงตรา ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจหนังสือเดินทาง ตม.ขาออก 69 ช่องตรวจ และเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คนต่อชั่วโมง โดยได้วางแนวทางลดความหนาแน่นบริเวณ ตม.ขาออก โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00-07.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 14.00-15.00 น. และช่วงกลางคืนระหว่างเวลา 21.00-23.00 น.)
ดร.กีรติ กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลตารางการบินฤดูร้อน ณ ทดม. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา มีสายการบินแจ้งทำการบินเข้า-ออก ระหว่าง ทดม.และท่าอากาศยานต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 25 ท่าอากาศยาน ทั้งหมด 9 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินจีน 6 สายการบิน และสายการบินไทย 3 สายการบิน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กันยายน 2566 มีสายการบินทำการบินระหว่าง ทดม.และท่าอากาศยานต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 13,293 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้า 6,642 เที่ยวบิน และขาออก 6,651 เที่ยวบิน ขณะที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกรวม 1,950,636 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 987,507 คน และผู้โดยสารขาออก 963,129 คน อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free ทดม.คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 414 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 60 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 207 เที่ยวบิน เทียบกับข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นจริงช่วง 7 วันก่อนมีมาตรการ (ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน 2566) มีเที่ยวบินขาเข้าและขาออกรวม 326 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 47 เที่ยวบินต่อวัน) แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้า 163 เที่ยวบิน และขาออก 163 เที่ยวบิน ในส่วนประมาณการผู้โดยสารในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 57,549 คน (เฉลี่ย 8,222 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 28,648 คน ขาออก 28,901 คน เทียบกับข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นจริงช่วง 7 วันก่อนมีมาตรการ (ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน 2566) มีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 43,783 คน (เฉลี่ย 6,255 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 21,740 คน และขาออก 22,043 คน ด้านการเตรียมความพร้อมของ ทดม.ในการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีความหนาแน่นบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางและจุดตรวจค้น โดยในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาเข้า ได้แก่ บริเวณจุดตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ทดม.ได้จัดสรรช่องตรวจหนังสือเดินทางให้สำหรับผู้โดยสารชาวจีนโดยเฉพาะจำนวน 4 ช่องตรวจ (ช่องตรวจหมายเลข 24, 26, 28 และ 30) พร้อมจัดทำป้ายบอกทางเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับผู้โดยสารชาวจีน และในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาออก ทดม.ได้เปิดบริการจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกทุกช่องตรวจตลอดเวลาที่มีเที่ยวบินขาออกคับคั่ง นอกจากนี้ ได้จัดสรรอากาศยานที่จอดค้างคืนให้เข้าจอดที่หลุมจอดแบบ MARS Stand เพื่อเพิ่ม Apron Capacity CODE C อีกจำนวน 11 หลุมจอด ทำให้ ทดม.มีหลุมจอดจำนวน ทั้งหมด 111 หลุมจอด (CODE A-B จำนวน 10 หลุมจอด) รวมถึงได้จัดเจ้าหน้าที่ Airport Help ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบแถวคอยของผู้โดยสาร ณ บริเวณจุดคับคั่ง และจัดเตรียมที่จอดรถสำหรับกรุ๊ปทัวร์ (รถบัส) บริเวณประตู 7-8 และบริเวณระหว่างทางเข้าประตู 15 กับอาคารจอดรถ 7 ชั้น ซึ่งสามารถจอดรถบัสได้จำนวน 2 คัน
ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเดินทางมาเพิ่มมากขึ้นจากทั่วโลก และพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป