เมื่อเร็วๆนี้ กรุงเทพมหานครซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Uban Food Policy Pact : MUFPP) และโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับ-ภูมิภาคระหว่างประเทศ (International Uban and Regional Cooperation :IURC) ได้ผุดไอเดียเก๋ โดยการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ด้านอาหารกรุงเทพมหานคร ตามเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลานขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานตามกรอบนโยบายอาหารในเมืองมิลาน 6 ด้าน คือ การบริหารจัดการ อาหารและโภชนาการที่ยั่งยืน ความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ การผลิตอาหาร การจัดหาและการกระจายอาหาร และขยะอาหาร โดยระบุว่าเป็นนโยบายส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการอาหารแบบยั่งยืน เพื่อให้ Food Banks กลายเป็นคำตอบสำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบาง ได้อย่างแท้จริงโดยเริ่มต้นที่เขตห้วยขวาง เป็นที่แรก

จริงๆแล้วโมเดล Food Banks หรือธนาคารอาหาร ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ธนาคารอาหารแห่งแรกของโลกเปิดบริการในปี 1967 ในสหรัฐอเมริกา โดย St. Mary’s Food Bank หลังจากนั้นก็กระจายไปทั่วโลก ส่วนในยุโรปมีการเปิดธนาคารอาหารแห่งแรกที่ปารีสในปี 1984 และขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2007-2008 เมื่อธุรกิจการเงินและธนาคารขนาดใหญ่ๆของโลกหลายแห่งล้มละลาย คนตกงานจำนวนมาก เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ข้าวยากหมากแพงทั่วทั้งยุโรป

...

ในปี 2021-2022 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของสถานการณ์โควิด มูลนิธิ The Trussell Trust ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอขนาดใหญ่ของอังกฤษ มีสาขาทั่วประเทศประมาณ 1,400 สาขา รายงานว่าตลอดปี 2021-2022 ทางมูลนิธิต้องจัดหาอาหารให้กับประชากรในลอนดอนเกือบ 3 แสนคน และจัดโรงครัวอาหารกลางวันให้กับคนยากจน พร้อมทั้งแจกถุงอาหารสดแห้งพร้อมด้วยสินค้าให้กับครอบครัวที่เดือดร้อน นอกจากชาวอังกฤษแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศมาขอรับความช่วยเหลือ เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน ด้วย

โมเดล Food Banks กลายเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือคนจนในหลายๆประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ออสเตรเลีย เป็นสถาบันหลักทางสังคมในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รวมทั้งยังเป็นแนวคิดที่ดีในการบริหารจัดการอาหารอย่างยั่งยืนด้วย

ฤดูหนาวในยุโรปเป็นช่วงเวลาที่คนยากคนจนเดือดร้อนมากที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพื่อความอุ่นในบ้านจะเพิ่มมากขึ้น

รูปแบบการจัดการธนาคารอาหารส่วนใหญ่ คือ การเปิดรับบริจาคอาหารมาจากประชาชนในชุมชน บรรดาชนชั้นกลางไปซื้ออาหารในซุปเปอร์มาร์เกตแล้วก็ซื้ออาหารแห้งและของใช้จำเป็นบางส่วนไปแบ่งปันหย่อนในกล่อง Food Banks ใกล้ประตูทางออกของร้าน ส่วนซุปเปอร์มาร์เกต หลังจากเช็กสต๊อกสินค้าต่างๆ แล้วจะจัดแบ่งอาหารที่กำลังจะหมดอายุ (sell by date/best before) มาหย่อนลงในกล่องรับบริจาคด้วยเช่นกัน จากนั้นก็จะมีอาสาสมัครของหน่วยงาน Food Banks ประจำชุมชนมายกกล่องบริจาคไปรวมที่สำนักงานเพื่อแจกจ่ายต่อไป

...

ขณะที่บรรดาธุรกิจรายย่อยในชุมชน เช่น ร้านเบเกอรี ร้านกาแฟ ร้านขายแซนด์วิช จะจัดอาหารที่เหลือขายในวันนั้นไปบริจาคเป็นสวัสดิการในแต่ละชุมชนที่ช่วยหล่อเลี้ยงคนยากจน แทนที่จะนำไปทิ้งให้กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง (food waste) ซึ่งปีหนึ่งๆ ทั่วประเทศเททิ้งอาหารประมาณ 9.5 ล้านตัน ในขณะที่คนยากคนจนไม่มีอาหารกินมากถึง 7-8 ล้านคน

Food Banks หรือธนาคารอาหาร มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีคำพูดติดตลก ว่า ขณะที่แมคโดนัลด์มีสาขาในสหรัฐอเมริกา 1,463 สาขา แต่ Food Banks ในอเมริกามีมากถึง 2,500 สาขา

...

สาเหตุสำคัญของการมาใช้บริการธนาคารอาหาร ส่วนใหญ่มาจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตกงาน เศรษฐกิจพังและผู้คนในระดับล่างๆ ของสังคมคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะคนยากจนในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนประเทศที่มีพี้นฐานทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แม้กระทั่งเมืองใหญ่อย่างลอนดอน การเติบโตและขยายสาขาของ Food Banks เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายไปทั่วเมืองมากกว่าการเกิดขึ้นของร้านกาแฟเสียอีก

หลายชุมชนมีกลุ่มคนอาสาสมัครเปิดบริการอาหารร้อน Lunch Club ช่วยเหลือคนที่ตกหล่นจากระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม รวมทั้งถูกผลักให้มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) มูลนิธิ End Fuel Poverty ระบุว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้นได้ผลักให้คนชั้นกลางในอังกฤษกลายเป็นคนยากจนมากขึ้นถึง 7 ล้านคน

...

จำนวนผู้ที่ใช้ธนาคารอาหารในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 26,000 คนในปี 2551-2552 เป็นมากกว่า 100 เท่าในปี 2566 ครัวเรือนอังกฤษเกือบหนึ่งในห้าประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับปานกลางถึงรุนแรง ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2565 ถึง เม.ย.2566 Trussell Trust ซึ่งเป็นเครือข่ายธนาคารอาหารที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ได้แจกจ่ายอาหารฉุกเฉินให้กับประชาชนเกือบสามล้านคน ขณะที่ปัจจุบันธนาคารอาหารที่ถือว่าขยายสาขารวดเร็วมากที่สุด คือ ธนาคารอาหารในยูเครนและรัสเซีย ที่ประสบกับปัญหาสงครามและความยากจนในเวลาเดียวกัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม