จำนวนเหตุทารุณกรรมเด็กในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 32 ติดต่อกัน โดยมีรายงานเฉียด 2.2 แสนกรณีในปีงบประมาณ 2565 ส่วนใหญ่เป็นการทารุณทางจิตใจ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 10 ก.ย. 2566 ว่า สำนักงานครอบครัวและเด็ก (CFA) ของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแพร่รายงานเบื้องต้นฉบับใหม่ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2565 นั้น ญี่ปุ่นมีจำนวนกรณีทารุณกรรมเด็กที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาเด็กเข้าไปจัดการเพิ่มขึ้นเป็น 219,170 กรณี มากที่สุดตลอดกาล และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 32 ติดต่อกันแล้ว

ตัวเลขล่าสุดหมายความว่าจำนวนเหตุทารุณกรรมเด็กในญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 11,510 กรณี โดยข้อมูลจาก CFA ระบุว่า การทารุณกรรมทางความรู้สึก (Psychological abuse) ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงระหว่างสมาชิกครอบครัวต่อหน้าเด็ก คิดเป็น 60% ของกรณีทั้งหมดที่ทางศูนย์เข้าให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ CFA เป็นองค์กรที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ เพื่อกำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับเด็กของรัฐบาล ขณะที่จนถึงเดือนเมษายน 2566 ญี่ปุ่นมีศูนย์ปรึกษาปัญหาเด็ก 232 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม เหตุทารุณกรรมมากกว่าครึ่งที่แจ้งมายังศูนย์ มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าระงับเหตุการทะเลาะเบาะแว้งในครัวเรือน

นายอากิระ คามามัตสึ ศาสตราจารย์ด้านสวัสดิภาพเด็กจากมหาวิทยาลัย เมเซ ชี้ว่า แม้บุคลากรในศูนย์ให้คำปรึกษาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนเหตุทารุณกรรมที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าได้

อนึ่ง การทารุณกรรมเด็กที่ได้รับรายงานตลอดปีงบประมาณ 2565 ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แบ่งเป็น การทารุณกรรมทางจิตใจ ซึ่งรวมถึงทางวาจา จำนวน 129,484 กรณีหรือคิดเป็น 59.1%, ทารุณรรมทางร่างกาย 51,679 กรณี หรือ 23.6%, การละเลย 35,556 กรณี หรือ 16.2% และทารุณกรรมทางเพศ 2,451 กรณีหรือ 1.1%

...

การทารุณกรรมทางจิตใจและการปล่อยปละละเลย เพิ่มขึ้นจากช่วง 1 ปีก่อนหน้านั้น 4,760 และ 4,108 กรณีตามลำดับ โดยเหตุทารุณมากกว่าครึ่ง หรือ 51.5% ที่แจ้งมายังศูนย์ปรึกษาฯ เป็นการแจ้งโดยตำรวจ ขณะที่ 11.0% แจ้งโดยเพื่อนบ้านหรือคนรู้จัก และมีเพียง 8.4% ที่แจ้งโดยสมาชิกครอบครัวหรือญาติ

CFA เปิดเผยอีกว่า ในปีงบประมาณ 2564 มีเด็กเสียชีวิตจากการทารุณกรรม 74 ราย โดย 24 รายในจำนวนนี้ อายุไม่ถึง 1 ขวบ โดยที่แม่แท้ๆ เป็นผู้ก่อเหตุหลักใน 20 กรณี ขณะที่พ่อแท้ๆ เป็นคนร้ายหลักใน 6 กรณี และมี 3 กรณีที่ทั้งพ่อและแม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : japantoday