สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นห้วงเวลาคึกคักของการประชุมสุดยอดผู้นำโลก ทั้งเวทีกลุ่มอาเซียน-เอเชียตะวันออก ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย. และเวทีกลุ่มเศรษฐกิจ G20 ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย.

ร่วมกันตีตราประทับความร่วมมือจากนี้และต่อไป มุ่งเน้นการค้าการลงทุน เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองของทุกฝ่าย กำหนดกรอบแนวทางของทิศทางที่ประชาคมควรจะมุ่งไป ให้แต่ละประเทศไปดำเนินการกันตามความสามารถอย่างเหมาะสม เป็นกระบวนการเช่นนี้มานานแสนนาน

กระนั้นภาพในวันนั้นไม่ใช่ภาพในวันนี้อีกต่อไป หลังโลกกำลัง ตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษทางความขัดแย้งขั้นรุนแรง จากการที่ “สมการแห่งอำนาจ” มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขั้วอำนาจเก่าที่กำหนดทิศทางโลกมานับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น กำลังถูกขั้วอำนาจใหม่ท้าทาย แย่งชิงอิทธิพล จนเกิดความพยายามอย่างหนักที่จะรักษาสถานะเดิมเอาไว้ พร้อมที่จะดำเนินการใดๆเพื่อกดหัวไม่ให้อีกฝ่ายผงาดขึ้นมาได้

โดยเป็นสูตรที่เคยประสบความสำเร็จ นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การเปลี่ยนจีนไปเป็นรูปแบบสังคมนิยมกึ่งทุนนิยม รวมถึงการแบ่งแยกและปกครองอย่างรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่แน่นอน การใช้กลยุทธ์เดิมๆอยู่ร่ำไปย่อมนำไปสู่ความผิดพลาดไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ประวัติศาสตร์โลก” แสดงให้เห็นเสมอมา ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคการผงาดและล่มสลายของจักรวรรดิโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย ตามด้วยกรีก โรมัน ฮั่น ไปจนถึงมองโกล

...

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำต่างๆ ถือเป็นกลไกที่ขั้วอำนาจเก่าเป็นผู้วางระบบไว้เพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ กระชับความเป็นปึกแผ่นของพันธมิตรและหุ้นส่วน จับกลุ่มเพิ่มอำนาจเจรจาต่อรอง ไปจนถึงบริหารจัดการความขัดแย้งและคลี่คลายสถานการณ์รุนแรงผ่านการเจรจา หรือใช้มาตรการทางความมั่นคงบีบคั้นกดดัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระเบียบโลกสากล

ซึ่งสำหรับอาเซียนถือเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจคอมมิวนิสต์ และป้องกันไม่ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้มครืนแบบโดมิโนกลายเป็นค้อนเคียวไปทั้งกระดาน ก่อนกลายมาเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก พ่วงด้วยระบบที่ทำให้ทุกอย่างราบรื่นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษนั่นคือ หลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” เพราะคนที่จะเข้ามาช่วยจัดการคือชาติตะวันตกนำโดย “สหรัฐอเมริกา”

เปรียบเทียบได้กับบอร์ดบริหาร 10 คน ที่อยู่ภายใต้ประธานกิตติมศักดิ์ คุยกันเองได้ เจรจากันเองได้ ตกลงกันเองได้ ตราบใดที่บรรยากาศ ยังคงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าวันใดสมาชิกมีปัญหาขึ้นมา ประธานก็จะเป็นผู้มอบแนวทางมาให้สมาชิกนำไปปฏิบัติ อาจมีหงุดหงิดไม่พอใจกันบ้าง แต่ด้วยความที่อยู่กันมานาน คนนี้สนิทสนมกับคนนั้น เลยทำให้หลายสิ่งหลายอย่างค่อยๆ คลี่คลายทีละลำดับ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์โลกที่กำลังเข้าสู่ยุคแบ่งขั้วอำนาจ หรือที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองในแง่ดีว่าเป็น “สงครามเย็นครั้งใหม่” กำลังส่งผลให้มุมมองทัศนคติของสมาชิกเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย บางส่วนอาจมองอีกฝ่ายมีบุญคุณ ให้ความช่วยเหลือมากกว่า ได้รับผลประโยชน์มากกว่า จนนำไปสู่การเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ในอดีต-ปัจจุบัน

บังเกิดความรู้สึกไขว้เขวระหว่างสองขั้วอำนาจเก่าใหม่ว่าใครดีกว่าใคร จนเป็นที่สังเกตได้ว่าอาเซียนระยะหลังกำลังถูกแบ่งเป็นหลายส่วน มีทั้งกลุ่มที่เอียงไปทางสหรัฐฯ กลุ่มที่พยายามอยู่กลางๆ และกลุ่มที่เอียงไปทางจีน เป็นที่มาว่าทำไม “อินโดนีเซีย” เจ้าภาพและประธานหมุนเวียนอาเซียน 2566 จึงต้องพยายามอย่างหนักที่จะเน้นย้ำเรื่องการกระชับความร่วมมือไม่ใช่การแข่งขันแย่งชิง ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือสงครามครั้งใหม่ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

แต่อนิจจาที่สุดท้ายแล้ว อาจเป็นเพียงความหวังที่เปรียบเสมือนการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เพราะสถานการณ์ ณ เพลานี้กำลังอยู่ในทิศทางที่ดูเหมือนจะกู่ไม่กลับ ขั้วอำนาจเก่ามีการส่งสัญญาณที่พร้อมจะเผชิญหน้าอย่างเต็มที่ มีการจับขั้วกับตัวละครที่มีประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมาย อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย มีการตั้งกลุ่มความร่วมมือทางความมั่นคงใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น AUKUS QUAD และยุ่มย่ามมากขึ้นในประเด็นเกาะไต้หวันที่อยู่ใต้ร่มเงาของหลักการจีนเดียว

ขณะที่ขั้วอำนาจใหม่ก็มีการแสดงจุดยืนขยายอิทธิพลเพิ่มเติมในภูมิภาคต่างๆ เตือนอาเซียนอย่าเป็นตัวแทนของใคร ผลักดันโครงการสร้างพื้นฐานทั่วทวีป ขยายอิทธิพลกลุ่ม BRICS รับสมาชิกใหม่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ อิหร่าน ส่งสัญญาณโละระบบซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่รวมถึงการเปิดฉากทำสงครามในยูเครน ซึ่งนับวันยิ่งใกล้จะเป็นกองทัพรัสเซียรบกับกองทัพสมาชิกองค์การ NATO

ความขัดแย้งกำลังลุกลามไปทุก หย่อมหญ้าคล้ายกับช่วง “พายุก่อตัว” ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็นคำถามว่า อาเซียนจากนี้จะมีบทบาทเช่นไร กลไกเดิมยังใช้ได้ผลอยู่หรือไม่ และในปีหน้าประธานหมุนเวียน สปป.ลาว จะไหวหรือเปล่า เนื่องด้วยถูกมองว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน!?

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ "7 วันรอบโลก" เพิ่มเติม