"โจ ไบเดน" ผู้นำสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังต่อการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ "จี20" ที่อินเดีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขา "ผิดหวัง" ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ที่กำลังจะจัดขึ้นในอินเดีย และคาดว่า นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน จะเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนในการประชุมสุดยอดในกรุงนิวเดลีในสัปดาห์นี้

นายไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) ว่า "ผมรู้สึกผิดหวัง แต่ผมจะหาทางไปพบเขา" แต่ไม่ได้บอกว่าการพบกันจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองพบกันครั้งสุดท้ายที่การประชุมสุดยอดที่อินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ นายสี เคยกล่าวไว้ว่าเขาจะเดินทางไปยังกรุงนิวเดลีเพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้ยืนยันการเข้าร่วมประชุมของเขา ในการแถลงข่าวตามปกติในวันพฤหัสบดี ขณะที่รายงานข่าวที่อ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมการประชุม ระบุว่า นายสี ไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในปีนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ถดถอยระหว่างจีนและอินเดีย และกองกำลังของทั้งสองประเทศกำลังเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนที่มีข้อพิพาทในพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียประท้วงหลังจากทางการจีนเผยแพร่แผนที่ที่อ้างว่ารัฐอรุณาจัลประเทศและที่ราบสูงอักไซชินเป็นดินแดนของจีน

ทั้งนี้นายสีและนายไบเดนอาจยังคงมีโอกาสพูดคุยในเดือนพฤศจิกายน ในการประชุมระหว่างผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค ที่เมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ 

การถอนตัวจากการประชุมครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาในช่วงสองเดือนหลังจากที่ผู้นำทั้งสองพบกันที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่บอลลูนสายลับที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของจีน ลอยเหนือท้องฟ้าในสหรัฐฯ ได้ทำลายความหวังในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

...

ทั้งสองประเทศยังแสดงความเห็นขัดแย้งในประเด็นต่างๆ รวมถึงสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงและฮ่องกง การอ้างสิทธิ์ในดินแดนต่อไต้หวันและทะเลจีนใต้ และการครอบงำอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมากของจีน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยังประเทศจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ, เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และนายจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษสหรัฐฯ ด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ 

ขณะเดียวกัน นายสี ยังคงมองว่าจีนอยู่ในฐานะผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา และพยายามรณรงค์การสนับสนุนทางเลือกอื่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ที่นำโดยสหรัฐฯ

ในการเยือนแอฟริกาใต้เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อพบปะกับผู้นำของกลุ่มเศรษฐกิจบริคส์ นายสี ได้วิพากษ์วิจารณ์ "อำนาจนำ" ของตะวันตก และเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนา "สลัดแอกของลัทธิล่าอาณานิคม" 

บริคส์เดิมหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ส่วนประเทศใหม่ 6 ประเทศที่กำลังจะเข้าร่วมบริคส์ ได้แก่ อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีกำหนดเข้าร่วมในเดือนมกราคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญสำหรับจีน.

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign