รอยแตกของโคลนบนพื้นโลกมักเชื่อมโยงกับวัฏจักรของสภาพแวดล้อมที่เปียก และแห้ง ซึ่งช่วยในการพัฒนากระบวนการที่ซับซ้อนต่อชีวิตของจุลินทรีย์ ซึ่งยานหุ่นยนต์โรเวอร์มาร์ส คิวริออสซิตี (Mars Curiosity) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ได้ส่งข้อมูลกลับมาจากดาวอังคารว่า ได้ค้นพบรอยแตกของโคลนบนดาวเพื่อนบ้านของเรา ที่เชื่อว่าจะให้ข้อมูลกระบวนการทางธรณีวิทยาและเคมีได้ดีขึ้นและให้ข้อมูลเชิงลึกว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงสามารถก่อตัวขึ้นในอดีตเมื่อหลายพันล้านปีก่อนได้อย่างไร

เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) เผยว่าภาพรอยแตกของโคลนบนดาวอังคารได้จากการที่ยานหุ่นยนต์โรเวอร์เคลื่อนผ่านหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) เมื่อ 20-22 มิ.ย.2564 ขณะผ่านรอยหินแตกชื่อพอนทัวร์ (Pontours) ในภาพเผยให้เห็นรอยแตกร้าวรูปตัว “ที” (T) และ 6 เหลี่ยมที่ชัดเจนของพื้นผิว บ่งบอกถึงวัฏจักรของสภาพเปียกชื้นและแห้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ พร้อมระบุว่านี่เป็นหลักฐานที่จับต้องได้ชิ้นแรกที่เราเห็นว่าสภาพอากาศโบราณของดาวอังคารมีวัฏจักรชุ่มชื้นและแห้งอย่างสม่ำเสมอเหมือนโลก และวัฏจักรดังกล่าวมีประโยชน์สำหรับวิวัฒนาการของโมเลกุลที่อาจนำไปสู่การก่อเกิดสิ่งมีชีวิต

ผลศึกษายังเผยว่ารอยแตกของโคลนเหล่านี้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินเหนียวสเมกไทต์ (smectite) ไปเป็นชั้นที่มีซัลเฟต อาจบ่งชี้ได้ว่าดาวอังคารเผชิญกับสภาพแวดล้อมคล้ายโลกในช่วงการเปลี่ยนผ่านของยุคโนอาเคียน-ยุคเฮสเปอเรียน (Noachian-Hesperian) เมื่อ 3,800-3,600 ล้านปีก่อน.

Credit : NASA/JPL-Caltech/MSSS/IRAP