อินเดียเดินหน้าสำรวจดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ส่งยาน 'อาทิตยาแอล -1' ศึกษาลมสุริยะ หลังภารกิจ 'จันทรายาน-3' (Chandrayaan-3) ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ สามารถลงจอด ณ ขั้วใต้ดวงจันทร์ ได้สำเร็จ

วันที่ 2 ก.ย. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียได้ปล่อยยานอาทิตยา-แอล 1 (Aditya-L1) ไปสำรวจดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก จากฐานปล่อยยานอวกาศที่เกาะศรีหริโคตา รัฐอานธรประเทศ ทางภาคใต้ของประเทศ เมื่อช่วงเวลา 11.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันเสาร์ที่ 2 ก.ย. 2566 

ยานอาทิตยา-แอล 1 ถูกออกแบบเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายที่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร และจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 เดือน เพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดลากรองจ์ 1 ซึ่งเป็นจุดในอวกาศที่จะเห็นดวงอาทิตย์ตลอดเวลา และเป็นจุดที่เสถียรด้วยแรงโน้มถ่วง

โดยภารกิจหลักของยานอาทิตยาแอล 1 คือการศึกษาลมสุริยะ ที่สามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายๆ อย่างบนโลก เช่น แสงออโรรา

ภารกิจนี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ หลังจากที่อินเดียประสบความสำเร็จในการนำยานจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอด ณ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา จนนับเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : Reuters