ภายใต้ยุคสมัยของกษัตริย์องค์ใหม่ที่โลกไม่ได้หมุนรอบบั๊กกิ้งแฮม “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามแห่งสหราชอาณาจักร” ทรงทำให้โลกเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันขนานใหญ่ให้ทันสมัยและมีขนาดกะทัดรัดแต่แข็งแรง คือทางรอดทางเดียวที่จะปกป้องราชบัลลังก์จากการถูกดิสรัปชัน
ล่าสุด มีรายงานข่าวจาก “เดอะ เมล ออน ซันเดย์” ว่า “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงวางแผนตัดข้าราชบริพารระดับกลางลงอีก 20% อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ใหม่หมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่มีความซ้ำซ้อนกัน ส่งผลให้ข้าราชบริพารหลายสิบชีวิตต้องถูกลอยแพออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชบริพารที่ประจำอยู่ในพระราชวังบั๊กกิ้งแฮม, พระตำหนักแซนดริงแฮม, ปราสาทวินด์เซอร์ หรือแม้แต่พระตำหนักบัลมอรัล ก็ล้วนแต่โดนหางเลขทั้งสิ้น
“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงปรารถนามานานแล้วที่จะลดขนาดของสถาบัน และปฏิรูปให้ทันสมัยขึ้น เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชมารดา จึงไม่แปลกที่ภารกิจแรกที่จะทรงลุยก็คือ การสั่งตัดลดจำนวนพระราชวงศ์ที่ทรงงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้รัฐบาลถวายความดูแลเรื่องงบประมาณให้เหลือแต่ผู้มีความสำคัญต่อการสืบสันตติวงศ์เท่านั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรัดเข็มขัดและปฏิรูปราชวงศ์ขนานใหญ่ โดย “เจ้าชายแอนดรูว์” คือหนึ่งในพระราชวงศ์ชั้นสูงที่โดนตัดเงินอุดหนุนประจำปีมากที่สุด เนื่องจากเป็นจุดอ่อนบั่นทอนเสถียรภาพของสถาบัน
ก่อนหน้านี้ก็ระส่ำกันไปทั้งวังแล้ว เมื่อมีการแจ้งเตือนเพื่อปลดข้าราชบริพารนับร้อยคนที่สังกัดอยู่ในพระตำหนักคลาเรนส์ เฮาส์ เนื่องจาก “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” และ “สมเด็จพระราชินีคามิลลา” ย้ายไปประทับอย่างเป็นทางการที่พระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารของสถาบันกษัตริย์ งานนี้โดนฟาดตั้งแต่กรมราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งมีข้าราชบริพารอยู่ในสังกัด 31 คน, กรมกิจการในพระองค์ 12 คน, กรมมหาดเล็ก 28 คน และกรมสนับสนุนด้านต่างๆ ตลอดจนพ่อครัว 4 คน, พ่อบ้าน 5 คน และบัตเลอร์อีก 2 คน สมัยควีนเอลิซาเบธที่สองยังมีพระชนม์ชีพอยู่ มีข้าราชบริพารในสังกัดมากถึง 491 คน ขณะที่พระตำหนักคลาเรนส์ เฮาส์ มีข้าราชบริพารประจำอยู่ 101 คน ถือเป็นการปฏิรูปวังครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
...
แหล่งข่าวใกล้ชิดยังเปิดเผยกับ “เดอะ เมล ออน ซันเดย์” ว่า “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงเห็นควรอย่างยิ่งว่าต้องมีการจัดระเบียบข้าราชบริพารอย่างเร่งด่วน เพราะทนดูข้าราชบริพารขี่คอกันทำงานซ้ำซ้อนไปมาไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น ทำไมจะต้องมีทีมเชฟที่ถวายงานพระราชวงศ์แยกต่างหากกับทีมเชฟที่ปรุงอาหารให้เหล่าข้าราชบริพาร งานนี้ต้องยกเครดิตให้ “ควีนคามิลลา” ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบวังครั้งใหญ่ โดยความพยายามดังกล่าวจุดประกายขึ้นตั้งแต่ตอนที่ “เจ้าชายแฮร์รี” และพระชายา “เมแกน มาร์เคิล” เก็บกระเป๋าออกจากพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอทเทจ เพื่อไปสร้างชีวิตใหม่ที่อเมริกา
เพื่อเป็นแบบอย่างแก่พระราชวงศ์ทั้งหลายและซื้อใจประชาชน “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ยังทรงตัดเงินอุดหนุนประจำปีของคนข้างกายคือ “ควีนคามิลลา” จากเดิมที่ “เจ้าชายฟิลิป” พระราชสวามีของควีนเอลิซาเบธที่สอง ทรงเคยได้รับเงินอุดหนุนประจำปีราว 359,000 ปอนด์ คาดว่าภายใต้ยุคผลัดแผ่นดิน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆของ “ควีนคามิลลา” จะเบิกเฉพาะจากเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant) ไม่แตะต้องเงินจากภาษีของประชาชนเด็ดขาด เช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆของราชวงศ์ ก็จะต้องเข้าสู่โปรแกรมการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ ถูกลดเงินอุดหนุนทุกทาง เพื่อสะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ของ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ที่ทรงมุ่งมั่นจะปกป้องสถาบัน.
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม