- 'กาบอง' กลายเป็นประเทศล่าสุดในทวีปแอฟริกาที่เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ ต่อจากไนเจอร์ ที่เพิ่งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจมาสดๆ ร้อนๆ
- แกนนำทหารก่อรัฐประหารกาบอง ยกเหตุผลยึดอำนาจ เพื่อต้องการล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลัง 'อาลี บองโก' คว้าชัย จะได้ประธานาธิบดีกาบองสมัยที่ 3 อีกทั้งต้องการตัดตอนการสืบทอดอำนาจของตระกูลบองโกที่ปกครองกาบองมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
- การก่อรัฐประหารในกาบอง จากการยึดอำนาจของกองทัพ นับเป็นครั้งที่ 8 ในทวีปแอฟริกา ช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น แม้จะเกิดเสียงประณามตามมาจากชาติตะวันตกและสหภาพแอฟริกาก็ตาม
‘สาธารณรัฐกาบอง’ ประเทศที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อมีกลุ่มทหารก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ ล้มผลเลือกตั้งประธานาธิบดี และจับกุมประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ วัย 64 ปี ไว้ในบ้านพักที่กรุงลีเบรอวิล เมืองหลวง
ทำให้ กาบอง กลายเป็นประเทศล่าสุดในทวีปแอฟริกาที่เกิดรัฐประหาร ต่อจาก ‘ไนเจอร์’ ซึ่งเพิ่งเกิดรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูมไปเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2566
...
ก่อรัฐประหาร ล้มผลการเลือกตั้ง ปธน.
ชาวกาบองต้องเผชิญกับการเกิดรัฐประหารในประเทศ โดยคณะนายทหารระดับสูงที่กุมกองทัพ ได้ประกาศยึดอำนาจผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เมื่อ 30 ส.ค. 2566 ล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าประธานาธิบดีอาลี บองโก คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา
กกต.กาบองประกาศว่า ประธานาธิบดีอาลี บองโก ได้คะแนนเสียง ถึง 2 ใน 3 หรือ 64.27% ของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ในขณะที่นายอัลเบิร์ต ออนโด ออสซา คู่แข่งชิงประธานาธิบดีคนสำคัญจากพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนเสียง 30.77%
ในขณะที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านประณามการได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีอาลี บองโก ครั้งนี้ว่า มาจากการโกง!! นายอัลเบิร์ต ออนโด ออสซา คู่แข่งชิงประธานาธิบดีกาบอง ชี้ว่ามีคูหาเลือกตั้งหลายแห่ง ไม่ปรากฏชื่อของเขาในบัตรลงคะแนน แต่กลับมีผู้ลงสมัครบางคนจากพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านที่ได้ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้ว ยังปรากฏชื่อบนบัตรลงคะแนน
ด้านองค์กรสื่อไร้พรมแดน ระบุว่า สื่อต่างชาติถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศกาบอง เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้
ยุบทุกสถาบัน ยุบรัฐสภา ปิดพรมแดน
หลังคณะทหารกาบองออกมาประกาศล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในกาบอง ให้เป็น ‘โมฆะ’ แล้ว ยังประกาศ ‘ยุบสถาบันทั้งหมดของประเทศ ยุบหน่วยงานรัฐบาล รวมทั้งยุบรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และจะปิดพรมแดนกาบอง จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก ก่อนต่อมา ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว อนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพ ออกมานอกบ้านได้ ในเวลา 06.00-18.00 น. เท่านั้น
...
ทำไมเกิดรัฐประหารในกาบอง?
หนึ่งในทหารระดับสูงของกาบอง 12 นาย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ กาบอง 24 ถึงเหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ว่าเพื่อต้องการล้มผลการเลือกตั้ง และต้องการยุติการสืบทอดอำนาจของตระกูลบองโกที่ดำเนินมายาวนานนับ 55 ปี
เพราะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประชาชนในประเทศกาบอง ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลบองโกมาตั้งแต่ปี 2510 จนตระกูลบองโก ถือเป็นหนึ่งในตระกูลที่สืบทอดอำนาจปกครองประเทศยาวนานมากที่สุดในทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว
ประธานาธิบดีอาลี บองโก ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกาบองครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2552 สืบต่อจาก นายโอมาร์ บองโก ผู้เป็นบิดา ที่เสียชีวิต หลังปกครองประเทศกาบองมายาวนานถึง 41 ปี โดยนายโอมาร์ บองโก เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศกาบอง มาตั้งแต่ปี 2510 เพียง 7 ปี หลังจากกาบองได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส
...
วังวนการเกิดรัฐประหารในแอฟริกา
กาบอง เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมันและโกโก้ แต่ประชากรกว่า 2 ใน 3 จมอยู่กับความยากจน ไม่แตกต่างจากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
หากการก่อรัฐประหารในกาบองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้เป็นการเกิดรัฐประหาร ครั้งที่ 8 ในภูมิภาคตะวันตกและตอนกลางของแอฟริกา ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ต่อจากการเกิดรัฐประหารในประเทศมาลี กินี บูร์กินาฟาโซ ชาด และไนเจอร์
บีบีซีรายงานว่า กาบองซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาจนถึงปี 2503 แต่มีประธานาธิบดีเพียง 3 คนเท่านั้น โดยในยุคของอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ บองโกนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม และได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและการเงิน เพื่อแลกกับความได้เปรียบทางธุรกิจ
แต่เมื่อมาถึงสมัยที่ นายอาลี บองโก บุตรชายของโอมาร์ บองโกขึ้นเป็นประธานาธิบดีกาบองตั้งแต่ปี 2552 สายสัมพันธ์กับฝรั่งเศสไม่แนบแน่นเหมือนสมัยรุ่นพ่อ และทางการฝรั่งเศสได้เริ่มสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตระกูลบองโก
...
ประกาศตั้งผู้นำคนใหม่กาบองทันที
หลังการก่อรัฐประหารดำเนินไปโดยราบรื่น สามารถควบคุมตัวประธานาธิบดีอาลี บองโก และครอบครัวไว้ในบ้านพักแล้ว ต่อมาบรรดานายทหารระดับสูงของกาบองที่ร่วมมือกันก่อรัฐประหาร ได้ปิดห้องประชุมและตัดสินใจเลือก 'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา' ผู้บัญชาการหน่วยอารักขาประธานาธิบดี เป็นผู้นำกาบองคนใหม่ทันที โดยจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน
เพราะสำหรับปฏิกิริยาของชาวกาบองส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้คัดค้านอะไรต่อการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ กลับพากันออกมาฉลองแสดงความยินดีที่อาลี บองโก สิ้นอำนาจ แม้บรรดาชาติตะวันตกและแอฟริกาจะออกมาประณามการก่อรัฐประหารก็ตาม
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์