หลังจากองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ไปลงจอดที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ เพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดของโลก เมื่อ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นชาติที่ 4 ที่นำยานลงจอดดวงจันทร์สำเร็จยานก็ทำผลงานทันที ทั้งส่งภาพพื้นผิวดวงจันทร์กลับมา ส่งยานโรเวอร์ปรัชญานออกวิ่งสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นแหล่งอุดมน้ำแข็ง ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะสกัดออกมาใช้ประโยชน์ในอนาคต
และเหมือนตีเหล็กกำลังร้อนที่จะสร้างประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องของวงการอวกาศอินเดีย ล่าสุด องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย ประกาศภารกิจต่อไปและสุดท้าทาย นั่นก็คือการปล่อยยานอวกาศอาทิตยา–แอล 1 (Aditya–L1) มูลค่า 1,600 ล้านบาท เป็นยานของอินเดียลำแรกที่จะส่งไปศึกษาดวงอาทิตย์ มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 2 ก.ย.เวลา 02.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน อาทิตยา–แอล 1 จะถูกนำส่งโดยจรวดพีเอสแอลวี (PSLV– Polar Satellite Launch Vehicle) จากศูนย์อวกาศสาทิศ ธาวัน บนเกาะศรีหริ โกฏา นอกชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย ซึ่งอยู่ในรัฐอานธรประเทศ ของอินเดีย
เมื่อส่งขึ้นอวกาศในช่วงแรก อาทิตยา-แอล 1 จะมุ่งหน้าไปยังวงโคจรระดับต่ำของโลก ซึ่งทีมที่ดูแลภารกิจนี้จากภาคพื้นดินจะสามารถตรวจสอบระบบต่างๆ ของยานอวกาศได้ และถ้าทุกอย่างยังเป็นไปด้วยดีอีกครั้ง ยานก็จะค่อยๆ หลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลกในที่สุด เมื่อเป็นอิสระจากแรงดึงดูดของโลก ยานก็จะเดินทางไปยังจุดลากรองจ์ 1 เป็นจุดที่อยู่ข้างหน้าโลกตลอดเวลา และจะเห็นดวงอาทิตย์ตลอดเวลาเช่นกัน ถือเป็นจุดที่เสถียรด้วยแรงโน้มถ่วง อยู่ห่างโลกออกไปประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร
ส่วนที่ว่าทำไมต้องไปอยู่ที่จุดลากรองจ์ 1 นั่นก็เพราะเป็นจุดที่มีความได้เปรียบในการดูดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการถูกบดบัง เป็นจุดที่มีประโยชน์ต่อการสังเกตพลังงานแสงอาทิตย์และผลกระทบต่อสภาพอากาศในอวกาศได้ตามเวลาจริงหรือแบบเรียลไทม์ โดย อาทิตยา–แอล 1 จะใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 7 ชิ้น ศึกษาดวงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆ ทีมนักวิทยาศาสตร์อินเดียเผยว่าข้อมูลของยานจะสามารถช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วฉับพลันของเปลวสุริยะและการปะทุครั้งใหญ่ของพลาสมาที่ร้อนจัด หรือที่เรียกว่าการปลดปล่อยก้อนมวลออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์
...
โปรเจกต์นี้อาจให้ความกระจ่างได้ว่าเหตุใดบรรยากาศรอบนอกของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโคโรนา ที่ร้อนถึง 1 ล้านองศาเซลเซียส จึงร้อนกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์มาก ซึ่งพื้นผิวดาวฤกษ์แม่ของเราร้อน 5,500 องศาเซลเซียส.
ภัค เศารยะ
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม