ญี่ปุ่นมีตลาดค้าขายอาหารทะเลสดตามเมืองต่างๆ ริมชายทะเลหลายแห่ง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเยือนได้ตั้งแต่เช้าตรู่ รายได้หลักอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือการส่งออกอาหารทะเลไปตามร้านอาหารในต่างประเทศ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นที่กระจัดพลัดพรายอยู่ทุกตรอกซอกมุมของโลกนับหลายหมื่นแห่งต่างก็อาศัยวัตถุดิบอาหารทะเลที่ส่งตรงจากญี่ปุ่น

ประเทศไทยที่มีประชากร 66 ล้านคนยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.2022 เป็นจำนวนถึง 5,325 แห่ง ในจีนไม่ต้องพูดถึง แต่ละมหานครใหญ่ของจีนมีร้านอาหารญี่ปุ่นประมาณ 500-1,000 แห่ง อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารต่างชาติที่คนจีนนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะจากวัตถุดิบอาหารทะเลที่ส่งตรงจากญี่ปุ่น อุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นเพื่อไปขายในร้านอาหารญี่ปุ่นที่อยู่ทั่วโลกนั้นยิ่งใหญ่มาก

5-6 ปีที่แล้ว ผมไปติดต่อห้างหยางกวง 100 เพื่อเปิดเฟยไท่ชาน ภัตตาคารไทยในนครฉางซา มณฑลหูหนาน ได้ข้อมูลจากคนจีนที่บริหารห้างหยางกวง 100 ว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในแค่ฉางซานครเดียวมีมากกว่า 500 แห่ง ในขณะที่ภัตตาคารไทยในนครแห่งนี้น่าจะมีไม่เกิน 10 แห่ง

ประเทศที่ญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลไปจำหน่ายมากเป็นอันดับ 1 คือจีน (ร้อยละ 22.5 ของอาหารทะเลที่ญี่ปุ่นส่งออก) ฮ่องกง (ร้อยละ 19.5) สหรัฐฯ (ร้อยละ 13.9) นอกนั้นก็เป็น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม (รวมกันแล้วร้อยละ 20) ที่เหลือทั้งโลก อีกร้อยละ 20 เช่นเดียวกัน ผู้ส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นจึงอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีมาก มีความมั่นคงในธุรกิจสูง

11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวและมีสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับความเสียหายจนสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากมายมหาศาลรั่วไหลเป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติรองจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิลใน ค.ศ.1996 รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้ใช้น้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิและเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีไว้ในถังกักนานกว่า 10 ปี

...

ญี่ปุ่นต้องกำจัดน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีนี้ให้ได้ จึงทุ่มงบประมาณมหาศาลศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทร โดยศึกษาเป็นเวลานานถึง 2 ปี แต่ไม่ว่าจะปฏิบัติในมุมไหน แง่ใด การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในเจ้าใหญ่ของผู้บริจาคเงินสมทบทุนให้สหประชาชาติใช้จ่ายเป็นรายปี องค์กรระดับโลกและย่อยลงมาค่อนข้างเกรงใจญี่ปุ่น กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติให้ไฟเขียวต่อญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เรื่องนี้นำความตระหนกตกใจ ความกังวลใจมาสู่ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับญี่ปุ่น ต่างออกมาประณามการกระทำของญี่ปุ่นว่าไร้ความรับผิดชอบ

รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่นรวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ชาวเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย ออกมาประท้วงและกักตุนอาหารทะเล สาหร่ายทะเลและเกลือเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบและอาหารการกินที่พวกตนกักตุนนั้นทำก่อนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนฯ ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสีย 7,800 ตันตั้งแต่วันนี้ไปเป็นเวลา 17 วัน และจะทยอยปล่อยอีก 1.3 ล้านตันลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายในเวลา 30 ปี

เป็นเวลานานหลายสิบปี ญี่ปุ่นค่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนบนโลกว่า ถ้าจะกินอาหารญี่ปุ่นต้องสั่งวัตถุดิบจากญี่ปุ่นเท่านั้น ความเชื่อนี้ก็ยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน สร้างความร่ำรวยให้กับบริษัทผู้ส่งออกวัตถุดิบเพื่อไปประกอบอาหารญี่ปุ่น มาถึงวันนี้ ความเชื่อมั่นที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ก็เป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาฟันคอญี่ปุ่นเอง

ในขณะที่คนทั้งโลกรณรงค์เรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ญี่ปุ่นกลับทำตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม