โซลาร์ ออร์บิเตอร์ (Solar Orbiter) เป็นภารกิจร่วมระหว่างองค์การนาซา ของสหรัฐอเมริกา และองค์การอวกาศยุโรป เพื่อจับภาพดวงอาทิตย์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ภารกิจนี้ทำงานควบคู่กับยานอวกาศ พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ที่ไปโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลา 7 ปีแล้ว ตอนนี้ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ บินอยู่ในระยะห่างเกือบ 6.4 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ถือเป็นยานอวกาศจากโลกที่บินไปใกล้ดาวฤกษ์แม่ของเราที่สุดเท่าที่เคยมีมา

พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ติดตั้งเครื่องมือ 10 ชิ้นที่สามารถจับภาพการสังเกตการณ์โคโรนาหรือบรรยากาศรอบนอกที่ร้อนจัดของดวงอาทิตย์ ทั้งยังสามารถวัดสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์และลมสุริยะได้อีกด้วย กล้องความละเอียดสูง The Extreme Ultraviolet Imager (EUI) ได้ถ่ายภาพขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ในเดือน มี.ค.2565 ซึ่งภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่พร้อมกับการงานวิจัยใหม่เมื่อเร็วๆนี้ โดยทีมวิจัยของสถาบันมักซ์พลังก์ เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ ในเยอรมนี นักวิจัยระบุว่า ได้เห็นวัสดุไหลพุ่งออกมาแบบจางๆในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งวัสดุเหล่านั้นบางส่วนมีรูปร่างเหมือนตัวอักษรตัว “วาย” (Y)

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าวัสดุไหลพุ่งออกมาเหล่านี้อาจเป็นแหล่งกำเนิดของลมสุริยะ ซึ่งเป็นกระแสของอนุภาคมีประจุที่ไหลอย่างต่อเนื่องจากดวงอาทิตย์ผ่านระบบสุริยะ วัสดุที่พ่นออกมาอย่างรวดเร็วของอนุภาคมีประจุนี้เรียกว่า “พลาสมา” มีอายุอยู่ได้นานระหว่าง 20-100 วินาทีในแต่ละครั้งที่พุ่งออกมา และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 360,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง.