อดีตของประเทศโมร็อกโก ช่วงปลายยุคครีเตเชียส เป็นทะเลเขตร้อนที่ตื้นและเต็มไปด้วยสัตว์นักล่าทางทะเล อย่างเพลซิโอซอร์ โมซาซอรัส และฉลาม แน่นอนว่าไม่ใช่สถานที่ที่คาดว่าจะพบไดโนเสาร์จำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อมีการค้นพบซากไดโนเสาร์ ในแหล่งโบราณคดีนอกเมืองคาซาบลังกา ของโมร็อกโก
ทีมนักบรรพชีวินวิทยานำโดย ดร.นิค ลองริช จากศูนย์วิวัฒนาการมิลเนอร์ของมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ เผยว่า ซากไดโนเสาร์ที่พบนี้เป็น 2 สายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์หนึ่งพบใกล้เมือง Sidi Daoui ซากฟอสซิลของมันคือกระดูกเท้า ที่เชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์นักล่าที่มีความยาวราว 2.5 เมตร ขณะที่อีกสายพันธุ์พบในเหมือง Sidi Chennane ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นกระดูกหน้าแข้งของไดโนเสาร์กินเนื้อ ที่มีความยาวประมาณ 5 เมตร
นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า ซากของไดโนเสาร์ทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลไดโนเสาร์กินเนื้อดึกดำบรรพ์ที่รู้จักกันในชื่อ อะเบลิซอร์ (Abelisaurs) ที่เป็นตระกูลไดโนเสาร์กินเนื้อ เทียบได้กับไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) แห่งซีกโลกเหนือ โดยเจ้าไดโนเสาร์ทั้ง 2 ชนิดที่พบใหม่นี้ เคยอาศัยอยู่ร่วมกับ Chenanisaurus barbaricus ซึ่งเป็นอะเบลิซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก แสดงให้เห็นว่าโมร็อกโกเป็นที่อยู่ของไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์จะพุ่งชนในช่วงปลายยุคครีเตเชียสเมื่อกว่า 66 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นการสิ้นสุดอายุของไดโนเสาร์.
Credit : University of Bath