ความหลากหลายของระบบครอบครัวในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ท้าทายให้นักวิจัยพยายามไขความกระจ่างตลอดมา ล่าสุด ทีมวิจัยนานาชาติ นำโดยนักโบราณคดีรัสเซียและนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนส กูเต็นเบิร์ก ไมนซ์ ในเยอรมนี เผยผลวิจัยที่ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดและโครงสร้างทางพันธุกรรมของชุมชนครอบครัวยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ของรัสเซีย เป็นพรมแดนทางภูมิศาสตร์ระหว่างยุโรปและเอเชีย

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์จีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของโครงกระดูกที่พบในสุสานยุคสัมฤทธิ์ที่พื้นที่ชื่อ Nepluyevsky อายุ 3,800 ปี ในทุ่งหญ้าสเตปป์ในรัสเซีย ซากเหล่านี้ขุดขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตรงพื้นที่ Nepluyevsky นั้นทีมวิจัยได้พบเนินดินสุสานที่มีครอบครัวหนึ่งถูกฝังอยู่ เมื่อวิเคราะห์ตรวจสอบก็ระบุได้ว่าเป็นหลุมศพของพี่น้อง 6 คน ฝังอยู่กับภรรยาของพวกเขา รวมถึงลูกหลาน มีข้อสันนิษฐานว่าพี่ชายคนโตน่าจะมีลูก 8 คนและมีภรรยา 2 คน โดยหนึ่งในนั้นมาจากทุ่งหญ้าสเตปป์ของเอเชียทางตะวันออก ส่วนพี่น้องคนอื่นๆไม่มีสัญญาณของการมีภรรยาหลายคน เป็นไปได้ว่าอาจใช้ชีวิตแบบคู่สมรสคนเดียวกับลูกๆ

นักวิจัยเผยว่า การศึกษาจีโนมชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในครอบครัวและการสมรสของคนในสังคมโบราณแห่งนี้ ให้ภาพอันน่าทึ่งของครอบครัวยุคก่อนประวัติศาสตร์ และทำให้รู้ว่าประชากรทางตอนใต้ของเทือกเขาอูราลรู้จักเพาะพันธุ์วัวและสร้างงานโลหะ ยังชีพด้วยผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์เป็นหลัก แต่สภาพความเป็นอยู่รวมถึงสุขภาพของครอบครัวที่ถูกฝังอยู่ที่นี่ดูจะย่ำแย่ เพราะอายุขัยเฉลี่ยของสตรีคือ 28 ปี ส่วนผู้ชายคือ 36 ปี เป็นไปได้ว่าประชากรจะเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือก็ขยับขยายไปอยู่ที่อื่นเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น.

...

A skeleton from the Nepluyevsky site. Credit : Svetlana Sharapova