- อินเดียภาคภูมิใจทั้งประเทศ ในภารกิจ จันทรายาน-3 ส่งยานอวกาศไปลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก และเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์
- ภารกิจจันทรายาน-3 คือความสำเร็จครั้งใหญ่ของอินเดียในการก้าวตามความฝัน แผนพัฒนาสำรวจอวกาศ ในยุคที่โลกของเรากำลังแข่งขันเทคโนโลยีด้านอวกาศกันอย่างเข้มข้น
- จันทรายาน-3 ยังเป็นโครงการสำรวจอวกาศที่อินเดียใช้งบประมาณต่ำเมื่อเทียบกับโครงการสำรวจอวกาศจำนวนมากของชาติอื่นๆ และจากความสำเร็จของจันทรายาน-3 ทำให้ ISRO ประกาศแผนใหม่ทันที จะส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลก
อินเดียประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภารกิจ 'จันทรายาน-3' (Chandrayaan-3) ส่งยานอวกาศไปลงขั้วใต้ดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล เมื่อเวลา 18.04 น. ของวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นในอินเดีย หรือตรงกับ 19.34 น. ตามเวลาประเทศไทย
ทำให้อินเดียสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเป็นชาติที่ 4 ต่อจากสหรัฐอเมริกา, อดีตสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน และจีน
แต่กว่าที่อินเดียจะประสบความสำเร็จในภารกิจ 'จันทรายาน-3' ในวันนี้ องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) นักวิทยาศาสตร์, เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องเพียรพยายามทุ่มเททำงานอย่างหนัก หลังพบกับความล้มเหลวในภารกิจ จันทรายาน-2 เมื่อ 4 ปีก่อนมาแล้ว
...
จันทรายาน-3 คืออะไร?
ภารกิจ จันทรายาน-3 คือ ภารกิจสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 3 โดยองค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (ISRO) นับตั้งแต่ได้เริ่มภารกิจ จันทรายาน-1 ส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2551 และต้องพบกับความล้มเหลวในการส่งยานอวกาศไปลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์เมื่อปี 2562
สำหรับจันทรายาน-3 ประกอบด้วย 1.โมดูลขับเคลื่น 2.ยานแลนเดอร์ หรือยานลงจอดชื่อ “วิกรม” (Vikram) และยานโรเวอร์สำหรับสำรวจผิวดวงจันทร์ ชื่อ “ปรัชญาณ” (Pragyan)
ISRO ได้ปล่อย จันทรายาน-3 ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศสาทิศธาวัน บนเกาะศรีหริโคตา รัฐอานธรประเทศ ทางภาคใต้ เมื่อ 14 ก.ค. 2566 และยานแลนเดอร์วิกรม สามารถลงจอดได้อย่างนุ่มนวล บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์เมื่อ 23 ส.ค. 2566 ท่ามกลางความดีใจของนักวิทย์ที่ ISRO และชาวอินเดียทั้งประเทศ
ถัดมาอีก 2 วัน องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย ได้เผยภาพเคลื่อนไหวบนแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) ความยาว 30 วินาที เผยให้เห็นวินาทีที่น่าตื่นเต้น ขณะยานโรเวอร์สำรวจผิวดวงจันทร์ 'ปรัชญาณ' (Pragyaan) ได้เคลื่อนลงจากยานลงจอด เพื่อลงไปสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์
ยานโรเวอร์ 'ปรัชญาณ' มีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบวิเคราะห์สารประกอบเคมีที่จะใช้สำรวจหินและพื้นดวงจันทร์ในบริเวณใกล้กับจุดลงจอด โดยยานสำรวจปรัชญาณ จะมีอายุภารกิจอยู่ที่ราวๆ 14 วัน ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงเวลากลางวันของดวงจันทร์ (1 วันบนดวงจันทร์เท่ากับ 29.5306 วันบนโลก)
...
ไม่เคยมีชาติใดทำสำเร็จมาก่อน
ความภาคภูมิใจของอินเดียในการส่งยานอวกาศไปลงบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก เนื่องจากบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ ยังไม่เคยมีชาติใดส่งยานอวกาศไปลงจอดได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน รัสเซียเพิ่งล้มเหลวในภารกิจ 'ลูนา-25' (Luna-25) เมื่อตัวยานแลนเดอร์ได้ชนกระแทกกับผิวดวงจันทร์ ขณะพยายามลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์เมื่อ 21 ส.ค. 2566 หลังจากรัสเซียได้ส่ง ลูนา-25 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อไปลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์ จนถือเป็นการดับฝันรัสเซียที่หวนกลับมาทำภารกิจส่งยานอวกาศของรัสเซียไปลงจอดดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี
ตอนนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังสนใจการสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์ (บริเวณที่เรามองเห็นเป็นลักษณะเงาถาวรทางด้านล่างดวงจันทร์) เพราะเชื่อว่าอาจมีน้ำแข็งอยู่ใต้พื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งน้ำคือทรัพยากรล้ำค่าในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่สามารถนำมาแปรเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง, ออกซิเจน และน้ำดื่มสำหรับการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ในอนาคต
...
'เดินตามฝัน-สำรวจอวกาศ' ด้วยงบประมาณต่ำกว่าชาติอื่น
ภารกิจจันทรายาน-3 เป็นโครงการสำรวจอวกาศที่ใช้งบประมาณต่ำ ในการเดินตามความใฝ่ฝันของอินเดียในแผนพัฒนาสำรวจอวกาศ เมื่อเทียบกับภารกิจสำรวจอวกาศจำนวนมากของชาติอื่นๆ ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในยุคของการแข่งขันเทคโนโลยีอวกาศกันอย่างเข้มข้น
ภารกิจจันทรายาน-3 ใช้งบประมาณเพียงแต่ 6.15 พันล้านรูปี (หรือ 74.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 2.6 พันล้านบาท) เท่านั้น
อีกทั้ง องค์การอวกาศอินเดียยังสามารถทำสำเร็จจากความพยายามครั้งที่สอง ในการส่งยานอวกาศไปลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์ หลังจากภารกิจจันทรายาน-2 อินเดียสามารถส่งจันทรายาน-2 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ แต่ยานแลนเดอร์ได้ตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์ ขณะปฏิบัติการเพื่อลงจอด จนสร้างความผิดหวังไปตามๆ กัน
...
ประกาศแผนใหม่ทันที ส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลกปีหน้า
หลังภารกิจจันทรายาน-3 สำเร็จอย่างงดงาม ทำให้ ISRO ประกาศเดินหน้าแผนสำรวจอวกาศโปรเจกต์ใหม่ทันที นั่นคือ ตั้งแผนจะส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลก เป็นเวลา 3 วัน ในปีหน้า 2567
อีกทั้งยังมีแผนร่วมมือกับญี่ปุ่นในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2568 และมีภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวศุกร์ในอีก 2 ปีต่อไป หรือปี 2570
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์