เนบิวลาดาวเคราะห์เคยถูกมองว่าเป็นวัตถุทรงกลมเรียบๆ มีดาวฤกษ์ดวงเดียวที่ใกล้ตายอยู่ตรงกลาง พวกมันมักได้รับการตั้งชื่อตามลักษณะที่คลุมเครือ มันดูเหมือนดาวเคราะห์เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก แต่ก็มีคนแย้งว่าเนบิวลาดาวเคราะห์เป็นคำที่ทำให้เข้าใจผิด มันไม่เกี่ยวอะไรกับดาวเคราะห์เลย เพราะเนบิวลาดาวเคราะห์โดยพื้นฐานแล้วเป็นบริเวณที่มีก๊าซและฝุ่นคอสมิกก่อตัวจากเปลือกนอกของดาวฤกษ์ที่กำลังวายชนม์

แต่เมื่อเร็วๆนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่เป็นความร่วมมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศแคนาดา ได้จับภาพรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของเนบิวลาวงแหวน (Ring Nebula) หนึ่งในตัวอย่างเนบิวลาดาวเคราะห์ ที่อยู่ห่างโลกราว 2,200 ปีแสง นักดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ เผยว่า เมื่อได้เห็นภาพเหล่านี้ครั้งแรกก็ตกตะลึงกับรายละเอียดอันยุ่บยั่บในนั้น วงแหวนที่ส่องสว่างประกอบด้วยกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนโมเลกุลหนาแน่นประมาณ 20,000 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีมวลมากเท่ากับโลก

นักดาราศาสตร์เผยว่า เมื่อไม่กี่พันปีก่อน ดาวฤกษ์ที่ใกล้ม้วยมรณานั้น เป็นดาวยักษ์แดงที่กำลังสูญเสียมวลส่วนใหญ่ของมันไป และในช่วงแห่งการอำลาชีวิตครั้งสุดท้าย แกนกลางที่ร้อนของดาวฤกษ์ได้แตกตัวเป็นไอออนหรือร้อนขึ้น ทำให้ก๊าซถูกขับออกมา และเนบิวลาตอบสนองด้วยการเปล่งแสงที่หลากสีสัน การสังเกตการณ์ของกล้องเวบบ์ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของวัตถุเหล่านี้ แถมยังบอกเป็นนัยถึงบทบาทสำคัญของระบบดาวคู่.

Credit : ESA/Webb, NASA, CSA, M. Barlow (University College London), N. Cox (ACRI-ST), R. Wesson (Cardiff University)