การใช้ตาข่ายจับหมอกในเปรู โบลิเวีย และชิลี ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหมอกจะแขวนตาข่ายเพื่อจับหยดน้ำ แบบเดียวกับที่โมร็อกโกและโอมาน หยดน้ำจะไหลลงมาตามตาข่ายและถูกรวมไว้เพื่อใช้เป็นน้ำดื่ม ทำอาหาร ซักล้าง มีข้อมูลว่าภูมิภาคที่มีฝนหรือน้ำที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติในปริมาณน้อย สามารถเก็บน้ำได้หลายร้อยลิตรต่อวันจากการใช้ตาข่ายดังกล่าว ในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร

ทว่าข้อเสียที่สำคัญอย่างหนึ่งวิธีใช้ตาข่ายจับหมอกก็คือมลพิษในชั้นบรรยากาศ มีสารอันตรายปนเปอยู่ในหยดน้ำ ในเมืองใหญ่หลายแห่งบนโลก อากาศมีมลพิษมากจนน้ำที่เก็บจากหมอกไม่สะอาดพอที่จะนำไปใช้ดื่มหรือปรุงอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องไปผ่านการบำบัด ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เผยได้พัฒนาวิธีการรวบรวมน้ำจากหมอกและทำให้บริสุทธิ์ในเวลาเดียวกันได้ โดยใช้ตาข่ายลวดโลหะที่เคลือบด้วยส่วนผสมของโพลิเมอร์ที่คัดสรรมาพิเศษ รวมถึงไททาเนียม ไดออกไซด์ โดยโพลิเมอร์จะทำให้หยดน้ำรวมตัวกันบนตาข่ายได้ดี และไหลลงสู่ภาชนะได้เร็วก่อนที่จะถูกลมพัด ไททาเนียมไดออกไซด์จะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เคมี ทำลายโมเลกุลของสารมลพิษอินทรีย์จำนวน มากที่อยู่ในหยดน้ำ เพื่อทำให้ไม่เป็นอันตราย

นักวิจัยเผยว่าระบบวิธีที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ไม่เพียงแต่กำจัดหมอกเท่านั้น แต่ยังบำบัดน้ำที่เก็บมาได้ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าสามารถใช้ในพื้นที่ที่มีมลพิษในชั้นบรรยากาศ  เช่น ใจกลางเมืองที่มีประชากรหนาแน่น.