ดาวแคระน้ำตาล (Brown dwarfs– BDs) เป็นวัตถุที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ มีมวลระหว่าง 13–80 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี หรือ 0.012–0.076 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการตรวจพบดาวแคระน้ำตาลจำนวนมาก แต่วัตถุชนิดนี้ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นก็เป็นสิ่งที่หาได้ยาก

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดยนักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค ในสหรัฐอเมริกา รายงานการค้นพบดาวแคระน้ำตาลที่หายาก โดยพบระหว่างการค้นหาระบบดาวคู่อุปราคา (Eclipsing Binaries) แบบมวลต่ำ ทีมได้ตรวจพบระบบดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยดาวแคระประเภทเอ็ม (M) และดาวแคระน้ำตาลที่ได้รับการตั้งชื่อว่า ZTF J2020+5033 มาจากการใช้เครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility (ZTF) นั่นเอง

นักดาราศาสตร์ระบุว่าดาวแคระน้ำตาลใน ZTF J2020+5033 ถึงจะมีขนาดเท่ากับดาวพฤหัสบดี แต่มีมวลมากกว่าประมาณ 80.1 เท่า อุณหภูมิที่แท้จริงของมันอยู่ที่ประมาณ 1,691 เคลวิน ระบบดาวคู่แห่งนี้อยู่ห่างจากโลกราว 445 ปีแสง อายุของระบบดาวคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 5,000-13,000 ล้านปี.