• ครัวเรือนและภาคธุรกิจในอังกฤษต่างหันหน้าเข้าหาพลังงานสะอาด อย่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมทั้งเครื่องปั๊มความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
  • ปัจจัยสำคัญที่พลังงานสะอาดแบบนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐ

ชาวอังกฤษต่างตื่นตัวที่จะหันเข้าหาพลังงานสะอาดอย่างมากในเวลานี้ โดยจะเห็นได้จากยอดในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และปั๊มความร้อนเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

โดยตัวเลขสถิติยังชี้ด้วยว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อพลังงานสะอาดเหล่านี้มากกว่าในช่วง 6 เดือนของปีที่แล้วด้วยซ้ำหรือถ้าคิดโดยเฉลี่ยเท่ากับมีบ้านเรือนประชาชนกว่า 20,000 ครัวเรือน ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในทุกๆ เดือนของปีนี้ ขณะที่ตัวเลขของครัวเรือนที่ติดตั้งปั๊มความร้อนเพิ่มขึ้นถึง 3,000 รายต่อเดือนเป็นครั้งแรก

ในแต่ละเดือนของปี 2023 ยังมีการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่สูงสุด โดยตัวเลขการติดตั้งสูงกว่าเดือนก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนการติดตั้งแบตเตอรี่ในบ้านและภาคธุรกิจทั่วสหราชอาณาจักรมีมากกว่า 1,000 แห่งในปี 2023 จนถึงปัจจุบัน
ด้านหน่วยรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม MCS ระบุว่า พลังงานสีเขียวที่ได้รับความนิยมสูง ผลักดันให้แต่ละครัวเรือนเริ่มหันมาติดตั้งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยทำสถิติในปี 2012 ซึ่งในตอนนั้นมีประชาชนเร่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก ก่อนที่รัฐบาลจะลดเงินอุดหนุนลง

...

เอียน ริปปิน ผู้บริหารระดับสูงของ MCS ระบุว่า เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เราได้เห็นกระแสของประชาชนที่หันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อที่จะได้สามารถผลิตพลังงานได้เอง รวมทั้งผลิตความร้อนได้เองจากปั๊มความร้อน โดยไม่ต้องใช้แก๊สที่บ้าน

โดยฮีทปั๊ม หรือปั๊มความร้อน เป็นเครื่องสำหรับผลิตความร้อน เช่น น้ำร้อน หรือ อากาศร้อน นิยมใช้ในโรงแรม โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แถมปั๊มความร้อน ยังผลิตความเย็นออกมาเป็นผลพลอยได้ ซึ่งลมเย็นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ปั๊มความร้อนนี้จึงเป็นทางเลือกในการให้พลังงานความร้อนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ แทนที่จะปล่อยทิ้งเสียเปล่า

สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ขนาดย่อมที่บ้านและภาคธุรกิจทั่วสหราชอาณาจักร จะมีกำลังในการผลิตรวม 4 กิกะวัตต์ ซึ่งยังนับว่ามากกว่าโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ฮิงลีย์ พอยท์ด้วยซ้ำ และยังคิดเป็นเกือบสองเท่าของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปใกล้กับ เพมโบรกในเวลส์

ริปปินระบุว่า พวกเรายังจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้มีการขยายออกไปอีก เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับนานาชาติเพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนการผลิตพลังงานขนาดเล็ก ซึ่งภาครัฐก็ต้องสนับสนุนให้ขั้นตอนต่างๆ มันง่ายขึ้น

โดยรัฐบาลอังกฤษได้ตั้งเป้าที่จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ถึง 70 กิกะวัตต์ภายในปี 2035 และติดตั้งปั๊มความร้อนให้ได้ถึง 600,000 เครื่องภายในปี 2028 แต่การติดตั้งปั๊มความร้อนไปใช้งานนั้น ยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลมาก แม้ว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 5,000 ปอนด์เพื่อลดต้นทุนในการเปลี่ยนหม้อต้มก๊าซแบบเก่าก็ตาม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการติดตั้ง ปั๊มความร้อนแล้วรวมทั้งสิ้น 17,920 เครื่อง และจากข้อมูลของ MCS พบว่า หากในช่วงครึ่งปีหลังยังมีการติดตั้งปั๊มความร้อนในอัตราเดียวกับที่ผ่านมา ยอดรวมการติดตั้งทั้งหมดจะไปถึงแค่เพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้เท่านั้น

...

ด้านบีน บีนแลนด์ผู้อำนวยการกิจการภายนอกของสหพันธ์ปั๊มความร้อน ระบุว่า ยังมีงานอีกมากที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เทคโนโลยีปั๊มความร้อนนี้กลายมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในทศวรรษนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนี้ ก็คือการหาผู้ติดตั้งที่มีคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และเกิดความเชื่อมั่นที่จะติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่พวกเขา

โดยปัจจุบันมีบริษัทติดตั้งปั๊มความร้อนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลอังกฤษแล้ว ราว 1,500 ราย แต่ยังคงขาดแคลนคนงานอีกราว 50,000 คน เพื่อให้เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ดังนั้นในปีนี้จะมีผู้รับเหมารายใหม่กว่า 850 เจ้าที่กำลังยื่นขอรับการรับรองอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้ที่มาขอขึ้นทะเบียนตลอดทั้งปี 2022

บีนแลนด์ยังระบุด้วยว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ความร้อนที่มีคาร์บอนต่ำที่สุดจะกลายเป็นความร้อนที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้เจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดินสามารถปรับตัว เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ ซึ่งถ้าหากมีการปรับราคาให้เข้าถึงได้ ประกอบกับการอุดหนุนจากภาครัฐในอนาคต แต่ละครัวเรือนก็จะสามารถมีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความมั่นใจ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : theguardian , skynews independent

คลิปอ่านข่าว  "รายงานพิเศษ"