การเผชิญหน้าทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี ระงับภาคเอกชนและธุรกิจอเมริกันไปลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังสหรัฐฯที่ไม่เปิดเผยนามระบุว่า แม้สหรัฐฯจะยึดมั่นในเรื่องการลงทุนแบบเปิดกว้าง แต่การลงทุนของเอกชนสหรัฐฯในบางประเภทอาจส่งผลให้ประเทศอื่นสามารถพัฒนาต่อยอดและนำมาใช้ประโยชน์ในการตอบโต้สหรัฐฯและชาติพันธมิตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯอีกรายมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีสกัดกั้นจีนไม่ให้ถือครองเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพทางการทหารที่จะมาบั่นทอนความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ คำสั่งประธานาธิบดีจะมีผลบังคับใช้ปี 2567

ส่วนกระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า จีนมีความกังวลอย่างยิ่งในเรื่องนี้ มาตรการของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่สินค้า ทั้งเบี่ยงเบนจากหลักการของสหรัฐฯที่โปรโมตการแข่งขันทางการค้าอย่างยุติธรรมมาตลอด จีนขอใช้สิทธิในการดำเนินมาตรการใดๆตามความเหมาะสม แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม

มาตรการของสหรัฐฯมีขึ้นขณะที่บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกำลังขมุกขมัว โดยวันเดียวกันนี้ แหล่งข่าวการทูตชาติอาเซียนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 4-7 ก.ย.นี้ และได้แจ้งให้รัฐบาลอินโดนีเซียรับทราบแล้ว แต่นายไบเดนจะเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งยังไม่ยืนยันวันที่แน่ชัด ระบุเพียงว่าจะเดินทางในเร็วๆนี้

...

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังประกาศตัวแรงในเรื่องจุดยืนความมั่นคงเอเชียตะวันออก โดยนายเคอิซุกิ ซูซูกิ สส.พรรครัฐบาลเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีจุดยืนเดียวกับนายทาโร อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ประกาศเรียกร้องเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะต้องแสดงความมุ่งมั่นว่าพร้อมที่จะต่อสู้หากเกาะไต้หวันถูกโจมตี ซึ่งต่อมาโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและหลีกเลี่ยงการสนับสนุนกองกำลังเอกราชไต้หวันในทุกๆด้าน.