สงครามเวียดนามเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 1955-30 เมษายน 1975 เป็นเวลา 19 ปี 6 เดือน กับ 1 วัน ผลของสงครามจบลงด้วยชัยชนะของเวียดนามเหนือและเวียดกง และการต้องถอนกำลังหนีจากอินโดจีนของสหรัฐฯและพันธมิตร หลังจากสงครามเวียดนาม ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯตกต่ำย่ำแย่ หลังจากนั้นก็มีมือที่มองไม่เห็นไปหนุนบริษัทสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและทำให้ผู้ชมชื่นชมรัฐบาลสหรัฐฯและกองทัพสหรัฐฯ
ภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่สร้างโดยบริษัทอเมริกันจะนำห้วงใดห้วงหนึ่งของสงครามมานำเสนอ แต่ละเรื่องจบลงด้วยความเป็นพระเอกของทหารอเมริกัน ส่วนพวกเวียดกง เวียดนามเหนือ จีน และรัสเซีย เป็นผู้ร้าย เยาวชนคนที่ดูภาพยนตร์หลายร้อยล้านคน ทั่วโลกถูกปฏิบัติการจิตวิทยาจากภาพยนตร์จนมีการรับรู้ข้อเท็จจริงต่อสงครามเวียดนามเพี้ยนไปอย่างมาก
สงครามอัฟกันเริ่มตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2001-30 สิงหาคม 2021 เป็นเวลาทั้งหมด 19 ปี 10 เดือน 3 สัปดาห์และ 2 วัน ผลของสงครามคือตอลีบานชนะ พวกที่แพ้คือสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย อิตาลี และนิวซีแลนด์ ที่เข้าไปร่วมกันปฏิบัติการกับกองกำลังพันธมิตรภาคเหนือ
แม้ว่าจะพ่ายแพ้และต้องหนีออกมาจากแผ่นดินอัฟกันอย่างหางจุกตูด แต่รัฐบาลสหรัฐฯก็ไม่ยอมให้ภาพลักษณ์ของความพ่ายแพ้ทำลายความยิ่งใหญ่ของตน ยังมีมือที่มองไม่เห็นเข้าไปสนับสนุนบริษัทสร้างภาพยนตร์ของอเมริกันหลายแห่งให้สร้างภาพยนตร์เป็นตอนๆ และในแต่ละตอนจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอเมริกันและพวก
ที่กำลังฉายตามโรงในเมืองไทยอยู่ในขณะนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องกันดาฮาร์ ฝ่าสมรภูมิทรายเดือด เป็นเรื่องเกี่ยวกับภารกิจของสายลับซีไอเอที่ต้องต่อสู้เพื่อหลบหนีออกจากเขตของศัตรูในอัฟกานิสถานร่วมกับล่ามชาวอัฟกันไปยังจุดถอนตัวในกันดาฮาร์ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทำในอัฟกานิสถาน แต่ไปใช้โลเกชันส่วนใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย กำกับโดยริค โรมาน วาก์ นำแสดงโดย เจอราร์ด บัตเลอร์ นาวิด เนกาบาน อาลี ฟาซาล
...
สหรัฐฯชำนาญในการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ ด้านภาพยนตร์ ปฏิบัติการจิตวิทยาเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ทำเรื่องจากดำให้เป็นขาว จากขาวให้เป็นดำ ชนะให้เป็นแพ้ แพ้ให้เป็นชนะ ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยทำให้ผู้คนเข้าใจผิดในสาระข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์
คนที่จะดูหนังเหล่านี้ ควรศึกษาประวัติศาสตร์ไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเคลิบเคลิ้มไปตามที่บทภาพยนตร์วางเอาไว้ นอกจากภาพยนตร์แล้ว สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ฝั่งสหรัฐฯและพันธมิตรก็ใช้ข่าวมาแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ระดับโลก เรื่องนี้ทีมงานเปิดฟ้าส่องโลกจับได้หลายครั้ง อย่างเช่น ครั้งหนึ่งใน ค.ศ.2003 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียเริ่มโจมตีอิรักเมื่อ 20 มีนาคม โดยกล่าวหาว่าอิรักมี WMD หรืออาวุธทำลายร้ายแรงจึงต้องเข้าไปโจมตี
ผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลกในสมัยนั้น พร้อมกับผู้สื่อข่าวรัสเซียและชาวไทยอีก 2 คน บินไปลงที่ซีเรีย และแอบเข้าไปอยู่ในกรุงแบกแดด อยู่จนกระทั่งทหารอเมริกันคนแรกบุกเข้ามาจนถึงสนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดด จึงเดินทางออกจากอิรักไปอยู่ที่กรุงดามัสกัสของซีเรีย
รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน อนุญาตทีมงานเปิดฟ้าส่องโลกเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆได้โดยเสรี ทั้งในกรุงแบกแดดและนอกเมือง ส่วนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวอื่นๆ ทั้งหมด ถูกจำกัดให้อยู่ในโรงแรมปาเลสไตน์ ให้รายงานข่าวจากบนดาดฟ้าของโรงแรมปาเลสไตน์เท่านั้น
สิ่งที่เราพบก็คือ แม้ว่าจะถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะในโรงแรม แต่นักข่าวอเมริกันและตะวันตกกลับมีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาเผยแพร่ตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ทำให้เราทราบว่าคนที่บริหารจัดการภาพและข่าวนั้นเป็นหน่วยของกองทหาร ไม่ใช่นักข่าวของจริงอย่างทีมงานของเราชาวไทยและชาวรัสเซีย
อีกสักพักก็จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-อูเครนออกมาสู่สายตาชาวโลก ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการปฏิบัติการจิตวิทยาของสหรัฐฯและตะวันตก.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com