เมื่อวานผมรับใช้ถึงว่า แต่เดิมการขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปต้องผ่านเส้นทางสายไหมซึ่งเป็นการขนส่งทางบก ต่อมามีการเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป การขนส่งทางเรือก็ยังใช้เวลานานมาก คนจึงยังใช้การขนส่งจากจีนไปยุโรปโดยผ่านเส้นทางสายไหม กระทั่ง ค.ศ. 1959-1869 มีการขุดคลองสุเอซเชื่อมทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 163 กิโลเมตร จากเมืองสุเอซไปยังเมืองพอร์ตซาอิด และเปิดใช้เมื่อ 16 พฤศจิกายน 1869 การขนส่งที่แต่เดิมผ่านแหลมกู๊ดโฮปและตามเส้นทางสายไหมทางบกจากจีนไปยุโรปก็น้อยลง

เมืองตามเส้นทางสายไหมที่เคยคึกคักไปด้วยผู้คนผู้ขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปก็เงียบเหงาราวกับป่าช้า คนหันไปใช้การขนส่งทางเรือที่แล่นผ่านคลองสุเอซ ครอบครัวผมแวะอุซเบกิสถานครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1991 พอถึง ค.ศ.2003 ก็ไปทำสารคดีตามเมืองในเอเชียกลาง ตอนนั้นเมืองต่างๆ ก็ยังเงียบเหงาราวกับป่าช้า

กระทั่ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนไปเยือนเอเชียกลางเมื่อกันยายน 2013 และเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อตุลาคม 2013 ได้เสนอแนวคิดข้อริเริ่มการร่วมสร้างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 กับประเทศที่เกี่ยวข้อง นายสีพูดว่า “เราจะประสานนโยบายการเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐาน การค้าคล่องสะดวก การหมุนเวียนทางการเงินและการเชื่อมใจประชาชน โดยร่วมหารือ ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน เป็นหลักการในการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประเทศและประชาชนในเส้นทางอย่างแท้จริง”

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่นายสีพูดครอบคลุมประเทศและพื้นที่ในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก ที่เห็นเป็นรูปธรรมทำสำเร็จแล้วก็คือทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น (หรือทางรถไฟสายจีน-ลาว) ซึ่งเป็นทางรถไฟขนาดรางสแตนดาร์ดเกจ 1.435 เมตร ระยะทาง 414 กิโลเมตร ทิศเหนือของทางรถไฟสายจีน-ลาว เชื่อมทางรถไฟสายคุนหมิง-บ่อหาน ทิศใต้เชื่อมกับทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง เชื่อมด่านบ่อหาน เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนาของจีน กับบ่อเต็นของ สปป.ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง และสุดเส้นทางที่นครหลวงเวียงจันทน์

...

เริ่มสร้างเมื่อ 2016 และให้บริการเมื่อ 3 ธันวาคม 2021 เส้นทางรถไฟทุกสายทุกการเชื่อมต่อที่ผมกล่าวถึง เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์

3-5 สิงหาคม 2023 สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ชวนสื่อมวลชนไปเยือนหลวงพระบางและนั่งรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น จากหลวงพระบางมายังเวียงจันทน์ เพื่อให้สื่อไทยได้เห็นภาพรวมของโครงข่ายการคมนาคมทางรางที่จะระโนงโยงเยงจากสิงคโปร์มาไทย ลาว จีน เอเชียกลาง รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และไปจนถึงยุโรปตะวันตก

เมื่อถึงเวียงจันทน์ พวกเราได้ชมโครงการความร่วมมือของนครเวียงจันทน์ ฟังการบรรยายสรุปของผู้บริหารสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) หลังจากนั้นก็ไปรับชมและฟังคำบรรยายของผู้อำนวยการโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดให้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2021-2025) เพื่อยกระดับ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (land-locked to land-linked) และเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจกับภูมิภาค รวมทั้งนโยบาย LLL หรือ Lao Logistics Link

กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว อนุมัติสัมปทาน 50 ปีให้บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด (VLP) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สิดทิโลจิสติกส์ลาว จำกัด ให้เป็นผู้พัฒนาท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ บนพื้นที่ 2,387.5 ไร่ ค่าก่อสร้าง 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ท่าบกท่านาแล้ง+เขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ นี่ละครับที่เป็น ‘ด่านสากล’ ให้บริการด้านพิธีศุลกากรสำหรับ 1.สินค้าขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ และ 2.สินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2021 เป็นต้นมา

พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม