พื้นที่กว้างใหญ่ด้านล่างของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถูกจัดสรรไว้สำหรับการขุดแร่ใต้ทะเลลึก ที่ทอดยาว ระหว่างหมู่เกาะฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก โดยเรียกว่าพื้นที่สำหรับสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเล หรือ Clarion–Clipperton Zone (CCZ) เป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นที่อยู่ของสัตว์หลายพันชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้จัก และจากการศึกษาใหม่หลายชิ้นก่อนหน้านี้ ระบุว่าสิ่งมีชีวิตที่เบื้องล่างของมหาสมุทรมีความซับซ้อนกว่าที่เข้าใจ

การสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเลดังกล่าวก็เพื่อหา “ตุ่มก้อน” มีลักษณะคล้ายหินที่กระจายอยู่ทั่วพื้นใต้ทะเล เชื่อกันว่าตุ่มก้อนพวกนี้จะมีแร่ธาตุ ที่ใช้ในเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด เช่น เอาไปทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทว่าการสำรวจก็ยังพบแต่สัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น ปลิงทะเลยักษ์ กุ้งขายาวเป็นแผง ไปจนถึงหนอนทะเลตัวเล็กๆ สัตว์พวกครัสเตเชียนหรือพวกมีเปลือกหุ้มตัวลำตัวเป็นปล้อง รวมถึงหอยชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในโคลน เมื่อเร็วๆนี้มีกลุ่มนักชีววิทยาทางทะเลเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Nature Ecology and Evolution ถึงการทำแผนที่การกระจายพันธุ์ของสัตว์ในพื้นที่ CCZ ระบุว่าพบกลุ่มชุมชนสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนกว่าที่เคยคิดไว้ นักวิจัยศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของอังกฤษก็ตอกย้ำว่าทุกครั้งที่ดำน้ำครั้งใหม่ ก็ได้เห็นสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา

...

นักวิจัยที่รณรงค์ในเรื่องนี้ระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้เป็นสมบัติที่แท้จริงของใต้ทะเลลึก และเตือนว่าการทำเหมืองจะเป็นภัยคุกคามสำคัญ โดยเฉพาะจะรบกวนตะกอนจำนวนมากที่เคยอยู่อย่างสงบ ขณะที่ “ตุ่มก้อน” ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งแร่นั้น น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เป็นได้.