นักวิทยาศาสตร์เปรูค้นพบซากวาฬดึกดำบรรพ์ ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าวาฬสีน้ำเงิน สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 2 เท่า จนอาจจะล้มแชมป์กลายเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลกตัวใหม่

ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของวาฬตัวนี้ ถูกขุดขึ้นจากทะเลทรายทางตอนใต้ของประเทศเปรู และถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "เปรูซีตัส โคลอสซัส" (Perucetus colossus) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 38-40 ล้านปีก่อน โดยมีความคล้ายคลึงกับพะยูน แต่มีขนาดใหญ่กว่าวาฬสีน้ำเงิน

โดยนักวิจัยประมาณการว่า เจ้า "เปรูซีตัส" นี้น่าจะมีความยาวถึง 20 เมตร และน้ำหนักสูงสุดได้มากถึง 340 เมตริกตัน ขณะที่ตัวที่มีน้ำหนักต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ราว 85 ตัน เท่ากับว่าเจ้าเปรูซีตัสจะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยราว 180 ตัน ซึ่งนับว่าพอๆ กันกับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบันอย่างวาฬสีน้ำเงินขนาดใหญ่ที่สุดที่น้ำหนักอยู่ที่ 190 ตัน หากมันมีลำตัวยาวอยู่ที่ 33.5 เมตร ขณะที่ไดโนเสาร์คอยาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 95 ล้านปีก่อนในอาร์เจนตินา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะมีน้ำหนักตัวราว 76 ตันเท่านั้น

...

นายจิโอวานนี เบียนัคชี นักบรรพชีวินวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยปิซาในอิตาลี และเป็นผู้เขียนหลักงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ระบุว่าคุณสมบัติหลักของสัตว์ชนิดนี้คือน้ำหนักที่มหาศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเหนือจินตนาการของเราได้

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลเมื่อ 13 ปีก่อนทางตอนใต้ของเปรู แต่ด้วยขนาดและรูปร่างของมัน ทำให้ต้องใช้เวลา 3 ปี เพื่อนำมันมายังกรุงลิมา เพื่อทำการศึกษา โดยฟอสซิลกระดูกแต่ละชิ้น ทั้งกระดูกสันหลัง 13 ซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก จะมีน้ำหนักเฉลี่ยราว 5-8 ตัน แต่ไม่พบชิ้นส่วนของฟัน ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์การกินอาหารของพวกมันได้ แต่คาดว่าจากน้ำหนักตัวมหาศาล น่าจะทำให้เจ้าเปรูซีตัสน่าจะเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวในน้ำได้เชื่องช้า.

ที่มา : รอยเตอร์

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign