- โดนัลด์ ทรัมป์ โดนฟ้องร้องข้อหาอาชญากรรมเป็นคดีที่ 3 จากการที่เขาพยายามพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563 จนทำให้เกิดเหตุจลาจลที่รัฐสภาในไม่กี่เดือนต่อมา
- ในคดีล่าสุด นายทรัมป์โดนฟ้องจำนวน 4 กระทง ตั้งแต่สมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงสหรัฐฯ ไปจนถึงขัดขวางกระบวนการอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีโทษจำคุก 20 ปี
- จนถึงตอนนี้ นายทรัมป์โดนฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญามากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่มีผลต่อการเป็นประธานาธิบดีของเขา หากทรัมป์เกิดชนะเลือกตั้งขึ้นมา
โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกฟ้องร้องข้อหาอาชญากรรมเป็นคดีที่ 3 แล้ว ในขณะที่เขากำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญในการชิงตำแหน่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อไปลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2567
มหาเศรษฐีฝีปากกล้าถูกฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับความพยายามของเขาในการพลิกผลเลือกตั้งปี 2563 จนนำไปสู่เหตุจลาจลที่รัฐสภาเมื่อ 6 ม.ค. 2564 จำนวน 4 กระทง ตั้งแต่สมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงสหรัฐฯ ไปจนถึงขัดขวางกระบวนการอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีโทษจำคุก 20 ปี
เอกสารคำฟ้อง 45 หน้าที่อัยการพิเศษ แจ็ก สมิธ ผู้สืบสวนคดีนี้ ยื่นต่อคณะลูกขุนใหญ่รัฐบาลกลาง แจกแจงวิธีการที่นายทรัมป์กับผู้สมรู้ร่วมคิดอีก 6 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำ เพื่อกระจายคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงเรื่องการโกงเลือกตั้ง และขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้งของสภาคองเกรส จนนำไปสู่การจลาจล
ข้อหาล่าสุดถูกมองว่าร้ายแรงกว่าคดีจัดการเอกสารลับอย่างไม่เหมาะสม และคดีปลอมบันทึกทางธุรกิจเพื่อปกปิดการจ่ายเงินให้กับดาราหนังโป๊ 2 คดีอาชญากรรมที่นายทรัมป์โดนฟ้องก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า นายทรัมป์จะยังมีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ หากเขาชนะเลือกตั้งแต่ถูกตัดสินว่ามีความผิด
...
ทรัมป์โดนฟ้องคดีที่ 3
คณะลูกขุนใหญ่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยื่นฟ้องร้องโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ศาลกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความพยายามพลิกผลเลือกตั้ง จำนวน 4 กระทง ได้แก่
1) สมรู้ร่วมคิดกันฉ้อโกงสหรัฐอเมริกา จากการที่เขาพยายามแพร่กระจายคำโกหกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รู้ว่าไม่เป็นความจริง รวมถึงการที่เขาพยายามขัดขวางการรวบรวม, การนับ และการรับรองผล เพื่อพลิกผลเลือกตั้ง
2) สมรู้ร่วมคิดกันขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมาย จากการที่นายทรัมป์กับพวก เตรียมการวางแผนเพื่อขัดขวางการรับรองคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ในเดือนมกราคม 2564
3) ขัดขวางและพยายามขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความพยายามทั้งหมดของนายทรัมป์กับพวก หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไปจนถึง 7 ม.ค. 2564 เพื่อขวางกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งของสภาคองเกรส
4) สมรู้ร่วมคิดกันละเมิดสิทธิ จากการที่นายทรัมป์กับพวก พยายามแทรกแซงสิทธิพลเรือนในการโหวตและได้รับการนับคะแนนโหวต ด้วยการบีบบังคับ, ข่มขู่ และคุกคาม
ข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อโกงสหรัฐอเมริกานั้น มีโทษปรับหรือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ขณะที่การขัดขวางและพยายามขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมาย (ข้อหาที่ 2 กับ 3) มีโทษปรับหรือจำคุกข้อหาละไม่เกิน 20 ปี ส่วนข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันละเมิดสิทธิมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี
ถ้าผิดจริงจะยังได้เป็นประธานาธิบดีหรือไม่?
จนถึงตอนนี้นายทรัมป์โดนฟ้องร้องคดีอาชญากรรม 3 คดีแล้ว ไม่รวมการฟ้องร้องคดีแพ่งอื่นๆ ที่เขากำลังเผชิญ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เขาจะยังคงสามารถลงสมัครเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้หรือไม่? คำตอบสั้นๆ คือ “ได้”
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่มีข้อห้ามผู้ถูกฟ้องร้องหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดคดีอาชญากรรม หรือกระทั่งกำลังจำคุกอยู่ ไม่ให้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หมายความว่า ต่อให้นายทรัมป์ถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินความผิดอย่างรวดเร็ว เขาก็ยังสามารถอยู่ในกระบวนการเลือกตั้งจนจบแม้จะอยู่ในห้องขัง
แต่ที่ไม่ชัดเจนคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากเขาชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ เพราะเช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามผู้ถูกฟ้องร้องลงเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้อธิบายว่าจะทำอย่างไรหากคนลักษณะนั้นเป็นผู้ชนะ
ศาสตราจารย์ ริชาร์ด แอล. ฮาเซน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ กล่าวว่า นายทรัมป์ยังมีหนทางที่จะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ หากเขาชนะเลือกตั้งปี 2567 เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของผู้รับตำแหน่งประธานาธิบดีไว้เพียงไม่กี่อย่าง เช่นต้องมีอายุอย่างน้อย 35 ปี
...
ทรัมป์อาจอภัยโทษตัวเอง
ศ.ฮาเซนกล่าวว่า หากนายทรัมป์ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาชญากรรมก่อนที่การเลือกตั้ง 2567 จะได้ข้อสรุป แต่สุดท้ายเขาได้รับชัยชนะ นายทรัมป์อาจออกคำสั่งอภัยโทษให้แก่ตัวเองได้ แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และศาลสูงสุดอาจเข้ามาแทรกแซง แต่ทรัมป์ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดที่ฝ่ายรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ได้
นอกจากนั้น หากนายทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีก่อนที่การฟ้องร้องใดๆ ที่ยื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจะจบลง เขาอาจให้กระทรวงยุติธรรมยกฟ้องคดีที่ว่าไปเลย เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมจะไม่ดำเนินคดีประธานาธิบดีในตำแหน่ง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากคดีล่าสุดของนายทรัมป์อาจใช้เวลาพิจารณาคดีประมาณ 9 เดือนถึง 1 ปี
แต่ในการฟ้องร้องระดับรัฐ เช่นคดีที่ยื่นฟ้องโดยนาย อัลวิน แบร็ก อัยการแขวงแมนฮัตตัน ในคดีปลอมบันทึกทางธุรกิจเพื่อปกปิดการจ่ายเงินให้กับดาราหนังโป๊ ยุ่งยากกว่าเพราะอาจไม่เข้าข่ายอำนาจอภัยโทษของประธานาธิบดี หากทรัมป์ถูกตัดสินว่ามีความผิดและชนะเลือกตั้ง อาจเกิดการต่อสู้ทางกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อหาว่ามีทางที่เขาจะรอดหรือไม่
หากนายทรัมป์ไม่รอด สิ่งที่จะตามมาแน่นอนคือกระบวนการฟ้องร้องถอดถอน หรืออิมพีชเมนต์ ของสภาคองเกรส หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 ที่อนุญาตให้คณะรัฐมนตรีถอดถอนประธานาธิบดีที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้
จริงอยู่ว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ห้ามผู้ที่กำลังรับโทษจำคุกอยู่เป็นประธานาธิบดี แต่มีหน้าที่หลายอย่างที่ไม่สามารถกระทำจากในคุกได้ เช่น ทบทวนเอกสารลับของราชการ ฯลฯ
ถึงแม้ว่าเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงการคาดเดาอนาคตอันไกล แต่แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากการที่นายทรัมป์ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งที่ถูกฟ้องร้องคดีอาญา และถูกสืบสวนในหลายข้อหาได้เกิดขึ้นแล้ว กฎหมายเชิงทฤษฎีในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำลังมีโอกาสถูกนำมาใช้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งต้องรอดูกันว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะถึงนี้จะจบลงอย่างไร
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : independent, cnn, npr
...