เมื่อเร็วๆนี้ อังเดร สตรอส์ นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ในบราซิล เผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับบรรพบุรุษชนพื้นเมืองของบราซิล จากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในรัฐเซาเปาโล โครงกระดูกดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ “ลูซิโอ” (Luzio) ที่พบในแม่น้ำกาเปลินญา กลางหุบเขาริเบรา เดอ อิกวาเป

ก่อนหน้านี้ นักโบราณคดีเคยคิดว่าลูซิโอน่าจะเป็นของประชากรเก่าแก่ที่ตั้งรกรากเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน ในดินแดนที่เป็นบราซิลยุคปัจจุบัน ทว่าการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมกลับบ่งบอกว่า ลูซิโอเป็นชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา เช่นเดียวกับชาวทูปี (Tupi), ชาวเกชัว (Quechua) หรือชาวเชโรกี (Chero kee) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเหมือนกันทั้งหมด แต่จากมุมมองทั่วโลก พวกเขาล้วนมาจากการอพยพในระลอกเดียวที่มาถึงทวีปอเมริกาไม่เกิน 16,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าสัณฐานวิทยาของกะโหลกของ “ลูซิโอ” คล้ายกับของ “ลูเซียญา” (Luzia) ซึ่งเป็นหนึ่งในฟอสซิลมนุษย์ที่เก่าแก่ที่พบในอเมริกาใต้ มีอายุประมาณ 13,000 ปี

นั่นหมายความว่า “ลูซิโอ” นอกจากจะเป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในรัฐเซาเปาโล เขายังเป็นลูกหลานของประชากรบรรพบุรุษที่ตั้งถิ่นฐานในอเมริกาอย่างน้อย 16,000 ปีก่อน และจากข้อมูลทางพันธุกรรมในการศึกษาโบราณคดีชุดใหญ่ที่สุดของบราซิลนี้ ยังเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับการหายตัวไปของชุมชนชายฝั่งที่เก่าแก่ที่สุด ที่สร้างสัญลักษณ์ทางโบราณคดี “sambaquis” เป็นกองเปลือกหอยขนาดใหญ่บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก โดยชนกลุ่มนี้หายไปอย่างกะทันหันเมื่อราว 2,000 ปีที่แล้ว.

...

(Credit : André Strauss)