อุตุฯชี้ กรุงปักกิ่ง เผชิญสภาพอากาศเอ็กซ์ตรีมสุดขั้ว เพิ่งประสบภัยคลื่นความร้อนไม่พ้นเดือน เผชิญฝนตกหนักสุดในรอบ 140 ปี จากอิทธิพลไต้ฝุ่นทกซูรี

เมื่อ 3 ส.ค. 2566 นักอุตุนิยมวิทยาอธิบายสาเหตุกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงจีนเผชิญกับฝนตกหนักในรอบ 140 ปี จากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทกซูรี เพราะน้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบเอ็กซ์ตรีม รุนแรงสุดขั้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะในเดือนกรกฎาคม ชาวจีนเพิ่งประสบภัยคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม จนทำให้คนทำงานทั่วประเทศได้รับคำเตือนจากทางการให้จำกัดระยะเวลาในการทำงานกลางแจ้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสภาพอากาศร้อนจัดที่จะมีผลต่อสุขภาพ

ชาวจีนยืนดูระดับน้ำในแม่น้ำหย่งติ้ง ที่ขึ้นสูงและไหลเชี่ยวกรากอย่างน่ากลัว ขณะไหลผ่านกรุงปักกิ่ง ที่เผชิญฝนตกหนักสุดในรอบ 140 ปี จากอิทธิพลไต้ฝุ่นทกซูรี
ชาวจีนยืนดูระดับน้ำในแม่น้ำหย่งติ้ง ที่ขึ้นสูงและไหลเชี่ยวกรากอย่างน่ากลัว ขณะไหลผ่านกรุงปักกิ่ง ที่เผชิญฝนตกหนักสุดในรอบ 140 ปี จากอิทธิพลไต้ฝุ่นทกซูรี

...

ทว่าช่วงสัปดาห์นี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาจีนได้ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในกรุงปักกิ่ง เนื่องจากมีฝนตกหนัก ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม จนถึงวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566 จากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทกซูรี พบว่าวัดปริมาณน้ำฝนได้สูงถึง 744.8 มิลลิเมตร ซึ่งนับเป็นปริมาณน้ำฝนสูงสุด จนทำลายสถิติที่เคยทำไว้ 609 มิลลิเมตร ในปี 2434

นอกจากกรุงปักกิ่งแล้ว หลายมณฑลเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก จากอิทธิพลของไต้ฝุ่นทกซูรี ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ทวีกำลังความรุนแรงเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น และเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

อย่างเช่น มณฑลหูเป่ย ได้ประสบกับสภาพอากาศเอ็กซ์ตรีมหนักกว่าเดิม โดยที่มณฑลหูเป่ย วัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันเสาร์ที่ 29 ก.ค. ถึงวันจันทร์ที่ 31 กค ได้สูงถึง 1,003 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทั้งปีถึงสองเท่า ซึ่งอิทธิพลของไต้ฝุ่นทกซูรี ที่ก่อให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของจีน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 21 ศพ และยังสูญหายหลายสิบคน

ทั้งนี้ สหประชาชาติเพิ่งออกคำเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยุคภาวะ 'โลกร้อน' (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไป โลกของเราเข้าสู่ ยุค 'โลกเดือด'(global boiling) อันเนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนถึงระดับวิกฤติ จากการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล

 ที่มา: The Guardian