เที่ยวบินแรกของฝรั่งเศส ที่อพยพชาวยุโรปออกจากไนเจอร์ เดินทางมาถึงกรุงปารีสแล้ว พร้อมผู้โดยสาร 262 คน

ฝรั่งเศส เริ่มอพยพพลเมืองของตนออกจากไนเจอร์ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านฝรั่งเศส หลังการรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้กระตุ้นให้เกิดการประท้วงต่อต้านอดีตเจ้าอาณานิคม และทำให้สถานทูตฝรั่งเศสถูกโจมตี อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสกล่าวว่าไม่มีแผนที่จะส่งทหารฝรั่งเศสประมาณ 1,000 นาย ที่ประจำการอยู่ที่ไนเจอร์กลับประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการตอบโต้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์

เยอรมนี เรียกร้องให้พลเมืองของตนทำตามข้อเสนอของฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือพลเมืองชาวยุโรปประเทศอื่นๆ ส่วนอิตาลีก็กำลังจัดเที่ยวบินให้เช่นกัน

การอพยพครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลทหารในบูร์กินาฟาโซ และมาลี เตือนว่าความพยายามเพื่อนำประธานาธิบดีที่ถูกโค่นล้ม กลับคืนสู่ตำแหน่ง อาจถูกมองว่าเป็นการประกาศสงคราม โดยทั้งสองประเทศซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พยายามออกจากการอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส และหันไปสนับสนุนรัสเซีย หลังจากการเกิดรัฐประหารในประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไนเจอร์ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ยูเรเนียม เป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตกในการต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคซาเฮล โดยทั้งฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ต่างมีฐานทัพที่นั่น และหลังจากที่ผู้นำทางทหารของมาลีเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ของรัสเซียในปี 2564 ฝรั่งเศสได้ย้ายศูนย์กลางปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายระดับภูมิภาคไปยังไนเจอร์

เมื่อวันอาทิตย์ ผู้ประท้วงนอกสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม เมืองหลวงนีอาเม ตะโกนว่า "รัสเซียจงเจริญ" "ปูตินจงเจริญ" และ "ฝรั่งเศสจงล่มจม" พวกเขายังจุดไฟเผากำแพงของสถานทูตด้วย

...

ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินไปรับพลเมือง เนื่องจากการปิดน่านฟ้าของไนเจอร์ทำให้พลเมืองไม่สามารถเดินทางออกไปได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้มีชาวฝรั่งเศสประมาณ 600 คนในไนเจอร์ และมีชาวเยอรมันอย่างน้อยกว่า 100 คน ด้านกระทรวงต่างประเทศของอิตาลี กล่าวว่า มีชาวอิตาเลียนประมาณ 90 คน ในกรุงนีอาเม จากทั้งหมดที่มีไม่ถึง 500 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า สเปนยังเตรียมอพยพชาวสเปนกว่า 70 คนทางอากาศ

ด้านสหราชอาณาจักรไม่ได้เตรียมการอพยพ และเรียกร้องให้พลเมืองที่อาศัยในไนเจอร์ อยู่แต่ในที่พักอาศัย ขณะที่สหภาพยุโรปกล่าวว่าไม่ได้วางแผนที่จะย้ายเจ้าหน้าที่ออกในขณะนี้ ส่วนสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่าไม่ได้อพยพพลเมืองของตน โดยยังไม่พบว่าเกิดภัยคุกคามต่อพวกเขา หรือต่อสถานทูตในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสยินดีต่อการยื่นคำขาดของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เมื่อวันอาทิตย์ โดยให้เวลารัฐบาลทหารของไนเจอร์หนึ่งสัปดาห์ในการคืนสถานะของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูม ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงนีอาเม

ความเคลื่อนไหวทางการทูตครั้งนี้ทำให้บูร์กินาฟาโซ และมาลี ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยขู่ว่าหากกลุ่ม ECOWAS เข้าแทรกแซงทางทหาร พวกเขาจะถอนตัวออกจากกลุ่ม และไปปกป้องไนเจอร์ และกล่าวว่า การแทรกแซงดังกล่าวจะก่อให้เกิดหายนะและบั่นทอนเสถียรภาพ

ปัจจุบัน บูร์กินาฟาโซ มาลี และกินี ถูกถอดความเป็นสมาชิกภาพจาก ECOWAS หลังจากการรัฐประหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการแทรกแซงทางทหารครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของ ECOWAS คือในประเทศแกมเบีย ในปี 2560 เมื่อนายยาห์ยา แจมเมห์ ปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากแพ้การเลือกตั้งให้กับ นายอดามา บาร์โรว์ โดยหลังจากกองกำลังของ ECOWAS เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ นายแจมเมห์ ก็ถูกเนรเทศไปยังอิเควทอเรียลกินี

นอกจากนั้น ECOWAS ยังได้ส่งกองกำลังไปสนับสนุนรัฐบาลกินี-บิสเซา เมื่อปีที่แล้ว หลังความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลวที่นั่น

แอลจีเรีย เพื่อนบ้านทางเหนือของไนเจอร์ ยังเรียกร้องให้ระมัดระวังต่อการแทรกแซงทางทหารที่อาจเกิดขึ้น โดยกล่าวว่า "จะนำไปสู่การยกระดับของวิกฤติในปัจจุบัน"

รัฐบาลทหารของไนเจอร์ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของ ECOWAS แต่ให้คำมั่นว่าจะปกป้องประเทศจาก "การรุกราน" โดยมหาอำนาจในภูมิภาค หรือตะวันตก โดยกล่าวหาว่าฝรั่งเศสวางแผนแทรกแซงทางทหาร.

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign