เยลต์ซินตัดสินใจลาออกจากประธานาธิบดีเมื่อ 3 ธันวาคม 1999 และเปิดโอกาสให้ปูติน ซึ่งตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี รักษาการประธานาธิบดีอยู่ 3 เดือน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนมีนาคม ค.ศ.2000 ปูตินในวัย 47 ปี มีคะแนนเหนือผู้สมัครคนอื่นทั้ง 2 รอบ และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อ 7 พฤษภาคม 2000

งานแรกที่ปูตินทำหลังจากเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการก็คือ แนะนำให้คริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์สถาปนาซาร์นิโคลัสที่ 2 (พระจักรพรรดิ) ซารีนาอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (พระราชินี) ซาเรวิชอเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช (มกุฎราชกุมาร) และพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ เป็นนักบุญในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2000 เพื่อฟื้นฟูพระเกียรติยศอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟ การฟื้นฟูพระเกียรติยศอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟ ทำให้ปูตินได้รับความชื่นชมจากประชาชนคนรัสเซียทั้งประเทศ หลายคนถามว่า อะไรทำให้ปูตินยืนยงคงกระพันอยู่ในอำนาจมานานถึง 23 ปี ขอตอบว่า เพราะปูตินรู้ว่าคนรัสเซียติดอยู่กับวัฒนธรรมประเพณี ยึดอยู่กับความหลังครั้งที่ยังมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวรัสเซีย ไม่เฉพาะในรัสเซียเท่านั้น หลายประเทศที่สถาบันกษัตริย์ล่มสลายไป ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็รำลึกนึกถึงความหลังครั้งอดีตที่เต็มไปด้วยพระราชประเพณี ความมีวัฒนธรรม และรากเหง้าของประเทศ

คนรัสเซียที่มาอยู่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยแสดงออกถึงความรักและศรัทธาในพระมหากษัตริย์ของไทย อย่างเพื่อนชาวรัสเซียของครอบครัวของผมหลายคน หาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา เช่น นายอีวาน ชาลาปอฟ วิ่งและบรรเลงเพลงเปียโน (Music Run for RAMA X) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

...

ชาลาปอฟ เป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงปีก่อนๆ อีวาน ชาลาปอฟ บรรเลงเปียโนมาราธอนถึง 3 ครั้ง 3 ปี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 คำว่ามาราธอนคือ เล่นเปียโนเป็นระยะเวลา 9 และ 10 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง

24 กรกฎาคม 2023 เวลา 17.00 น. อีวาน ชาลาปอฟ แสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ถลาง จากนั้นก็จะวิ่งจาก จ.ภูเก็ต ไปถึงหาดท้ายเหมือง จ.พังงา และจบลงด้วยการแสดงคอนเสิร์ตที่ จ.พังงาอีกครั้ง ท่านสามารถรับชมภาพกิจกรรมของอีวาน ชาลาปอฟได้ที่ http://rama10musicrun.tilda.ws/music_run_for_rama_x/

159 ปีที่แล้ว พลเรือโทอเล็กเซ เปสชูรอฟ นำเรือไกดามากและโนวิกของกองทัพเรือรัสเซียมาทอดสมอที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 1864 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะนายทหารรัสเซียเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด แล้วทรงมอบพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งให้เปสชูรอฟไปมอบให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 และนี่คือสัมพันธภาพแรกเริ่มของสยามกับรัสเซียที่นักวิชาการชาวรัสเซียทุกคนยกย่องว่าเป็นสัมพันธภาพที่มีแต่ความชื่นใจไมตรีจิตต่อกัน เป็นการปูพื้นฐานที่ดีงามเพื่อขยายความสัมพันธ์ครั้งหน้าของประเทศทั้งสอง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รัฐบาลรัสเซียส่งนายทหารเรือมาเยือนสยามเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี 2 ครั้ง จนถึง ค.ศ.1891 ก็มีการมาเยือนสยามของซาเรวิชแกรนด์ดุ๊กนิโคลัส (ภายหลังคือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนรัสเซีย ค.ศ.1897 รัชกาลที่ 5 ทรงทูลสนทนากับซาร์นิโคลัสที่ 2 บ่อยๆและครั้งละหลายชั่วโมง ข้อใหญ่ใจความก็ทรงตรัสเรื่องสยามกับมหาอำนาจยุโรป ปัญหาในตอนนั้นคือฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี พระเจ้าซาร์มีพระราชดำรัสที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

รัสเซียเป็นยุโรปเพียงชาติเดียวที่แสดงสถานะเท่าเทียมกับสยาม ไม่มีท่าทีคุกคามหยามหมิ่น หรือกดขี่ข่มเหงให้อีกฝ่ายเดือดเนื้อร้อนใจเหมือนฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับรัสเซียยังคงสืบเนื่องถึงปัจจุบัน.

(ภาพจาก rama10musicrun)

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม