การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาจากปิโตรเลียมในปัจจุบันได้นำไปสู่การสะสมของพลาสติกมหึมาในหลุมฝังกลบและมหาสมุทร วัสดุเหล่านี้ย่อยสลายได้ต่ำ เพื่อลดปัญหานี้และตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารจึงเร่งลงทุนในการพัฒนาทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยยังรักษาคุณภาพทางโภชนาการ ทั้งสี รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส

เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากคณะวิศวกรรมเคมีแห่งมหาวิทยาลัยกัมปินาส และศูนย์เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่สถาบันเทคโนโลยีอาหารแห่งกระทรวงเกษตรฯ รัฐเซาเปาโล ในบราซิล เผยว่า ได้พัฒนาฟิล์มที่ทำจากสารประกอบที่ได้จากลิโมนีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเปลือกผลไม้รสเปรี้ยว และไคโตซาน ที่เป็นโพลิเมอร์ชีวภาพได้จากไคตินที่มีอยู่ในเปลือกนอกของสัตว์จำพวกครัสเตเชียน จำพวก

กุ้ง-กั้ง-ปู โดยการที่เลือกไคโตซานมาทำฟิล์ม ก็เพราะเป็นโพลิเมอร์ที่มาจากธรรมชาติและมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านจุลินทรีย์ ก่อนหน้านี้มีการใช้ลิโมนีนในฟิล์มสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อเพิ่มการรักษาอาหารด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ แต่ประสิทธิภาพจะลดลงจากความผันผวนและความไม่เสถียรในระหว่างกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหานี้ทีมจึงใช้อนุพันธ์ของลิโมนีนที่เรียกว่าโพลี (ลิโมนีน) ซึ่งไม่ระเหย

นักวิจัยเผยว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจมาก เพราะฟิล์มที่มีสารเติมแต่งโพลี (ลิโมนีน) มีประสิทธิภาพดีกว่าฟิล์มที่มีลิโมนีน ในแง่ของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่ามีศักยภาพเป็น 2 เท่า สารนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้อย่างน่าพอใจ และพบว่าไม่ระเหยง่าย จึงเหมาะสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่.

...