ดิจิทัล คอนเทนต์ ได้รับการอธิบายว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเนื้อหาต่างๆ โดยแสดงผ่านสื่อดิจิทัลหลากหลายช่องทาง อย่างโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ซึ่งหนึ่งในงานที่มาแรงเฟื่องฟูในสื่อแบบดิจิทัล คอนเทนต์ก็คืออุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ หรือ “ตัวละครการ์ตูน” ที่รังสรรค์ออกมาจากมันสมองและฝีมือของศิลปินผู้ออกแบบที่มีอยู่มากมาย

หลายสิบปีที่ผ่านมาเจ้าใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์และอุตสาหกรรมแอนิเมชันอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ทำผลงานออกมาครองใจผู้คนแทบจะทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีครีเอเตอร์หรือผู้สร้างงานจำนวนมากทำผลงานและผุดผลิตภัณฑ์คาแรกเตอร์ออกมาแชร์ตลาดแบบไม่น้อยหน้า บ่งบอกทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจของงานศิลปะแขนงนี้ เพราะไม่เพียงนำเสนอผ่านงานบันเทิงอย่างภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ และของเล่นเท่านั้น ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ ได้เปิดนิทรรศการแลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์เกาหลี–ไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ทิศทางการเติบโตของคาแรกเตอร์และทรัพย์สินทางปัญญาของ 2 ประเทศ โดยมี 6 บริษัท ในเกาหลีใต้และไทยนำผลงานมาเผยแพร่ให้ชมกัน คาแรกเตอร์จากฝั่งโสมขาวก็มี “ชินบี อพาร์ตเมนต์หลอน”, “มอนสเตอร์คลับ”, “โทริ ยาง”, “โรบินสัน”, “โทมนคาร์” และ “วิลเบลเกอร์ส” ส่วนคาแรกเตอร์ฝีมือฝั่งไทยเราก็มี เจ้าแกะเหลือง “ชูชีพ”, คาแรกเตอร์ทศกัณฐ์ หนุมาน และแคท คอมพานี

สิ่งที่น่าคิดก็คือถ้อยแถลงของนายชิน ชางฮวาน ประธานสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันของเกาหลีใต้ เผยว่า สมาคมของพวกเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ ธ.ค.1994 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชันของเกาหลี โดยปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นและเพิ่มการส่งออก ปัจจุบันมีสมาชิกผลิตแอนิเมชันราว 150 บริษัท ชี้ให้เห็นว่า 29 ปีที่ผ่านมาวงการผลิตคาแรกเตอร์แดนโสมขาวตื่นตัวตลอดเวลา ชิ้นงานก็ทวีความหลากหลายเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ไม่แปลกที่อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์จะประกาศศักดาว่าพวกเขาสามารถต่อยอดรายได้เป็นตัวเงินอย่างมหาศาล...ส่วนนิทรรศการมีไปจนถึง 25 ส.ค.นี้ แวะไปชมกันได้.

...

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม