เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ ใช้ถุงห่อศพมาบรรจุน้ำแข็ง เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยฮีตสโตรกเย็นลง ขณะที่เมืองฟีนิกซ์ อุณหภูมิแตะ 43 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นวันที่ 19

คลื่นความร้อนรุนแรงยังคงแผดเผาพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันกว่า 90 ล้านคนอยู่ภายใต้คำแนะนำเรื่องความร้อน ที่เมืองฟีนิกซ์ ในรัฐแอริโซนา อุณหภูมิพุ่งแตะ 43 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นวันที่ 19 ซึ่งทำลายสถิติเดิมของเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า โรงพยาบาลต้องใช้ถุงเก็บศพมาเติมน้ำแข็ง เพื่อทำให้ร่างกายของผู้ป่วยโรคลมแดดบางรายเย็นลง

อุณหภูมิในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงจนในระดับอันตรายตลอดทั้งสัปดาห์ ขณะที่โดมความร้อนได้ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่รัฐฟลอริดาจนถึงแคลิฟอร์เนีย จากข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 12,000 ครั้งในปีนี้ 

ด้านบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแอริโซนา กล่าวว่า ลูกค้าทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในครั้งเดียว เนื่องจากประชาชนใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อคลายความร้อน

ทั้งนี้ การสัมผัสกับความร้อนจัดอย่างต่อเนื่องอาจทำให้อ่อนเพลียจากความร้อน เวียนศีรษะ เป็นลม และปวดศีรษะ เมื่อความดันโลหิตลดลง โดยในเมืองฟีนิกซ์ มีผู้เสียชีวิต 12 คน หลังจากได้รับผลกระทบเนื่องจากภาวะความร้อนที่มากเกินไปในขณะนี้

แพทย์ที่ศูนย์การแพทย์ วัลเลย์ไวซ์ เฮลธ์ กล่าวว่าผลกระทบจากความร้อนที่ไม่หยุดยั้งทำให้ระบบการรักษาพยาบาลท่วมท้น แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินกล่าวว่า "โรงพยาบาลไม่ได้เผชิญความวุ่นวายเช่นนี้ นับตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด"

...

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรายหนึ่งกล่าวว่า แพทย์ในห้องฉุกเฉินให้ผู้ป่วยนอนในถุงเก็บศพที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง เพื่อพยายามทำให้ร่างกายเย็นลง

นายแพทย์ กอฟฟ์ คอมป์ แพทย์ฉุกเฉินผู้ช่วยพัฒนาระเบียบการช่วยชีวิต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวด้านสุขภาพ Stat News ว่าถุงเก็บศพเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรักษาผู้ที่เป็นโรคลมแดด เพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยร่างกายเย็นลงได้เร็วกว่าวิธีแบบเดิมถึงสองเท่า ตามรายงานของ Stat News ระบุว่า ผู้ป่วยถูกแช่อยู่ในถุงน้ำแข็งซึ่งกันน้ำได้ และมีพื้นที่เพียงพอให้แพทย์สามารถทำหัตถการบางอย่างได้

ในลาสเวกัส อุณหภูมิที่ร้อนระอุได้สร้างความตกตะลึงให้กับเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุฉุกเฉิน นายแพทย์เดวิด ชิลลิง จากเมืองลาสเวกัส ประเมินว่าการโทรติดต่อบริการฉุกเฉินเพิ่มขึ้น 40% ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่คุ้นเคยกับเมือง หลายคนมักไม่ทราบว่าต้องเดินตากแดดท่องเที่ยวในลาสเวกัสเป็นระยะทางและระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากผู้คนหลงใหลในอาคารขนาดใหญ่และแสงสี พวกเขาจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังขาดน้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาคลื่นความร้อนมีความถี่มากขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่เริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม และอุณหภูมิจะยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นแต่รัฐบาลทั่วโลกจะช่วยกันลดการปล่อยมลพิษลง.

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign