มีคนถามว่าเราน่าจะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือ ‘ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก’ หรือเปล่า ผมตอบว่าเรื่องนี้ต้องอภิปรายกันในประเทศไทยถึงข้อดีข้อเสีย CPTPP เป็น ‘ข้อตกลงพหุภาคี’ ที่ครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ มีสมาชิกถึง 11 ประเทศ ครอบคลุมประชากรโลกร้อยละ 7 มีขนาดเศรษฐกิจร้อยละ 13 ของเศรษฐกิจโลก ประเทศใหญ่หลายแห่งก็เตรียมกระโจนเข้าเป็นสมาชิก
15-16 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา มีการประชุมกลุ่มชาติสมาชิก CPTPP ระดับรัฐมนตรีที่เมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ มีพิธีลงนามข้อตกลงในการรับอังกฤษเข้าเป็นสมาชิก ส่วนจีนได้ยื่นหนังสือขอเจรจาไปแล้วเมื่อ 16 กันยายน 2021 ไต้หวันยื่นหนังสือขอเจรจาเมื่อ 22 กันยายน 2021
ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์เปิดเผยว่าประธานาธิบดีเซเลนสกีของอูเครนก็ยื่นใบสมัครเพื่อขอเข้าร่วมสมาชิก CPTPP เป็นทางการต่อนิวซีแลนด์แล้วเช่นกัน ความมุ่งหวังตั้งใจของเซเลนสกี ก็คือ ต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากเสร็จสิ้นสงครามรัสเซีย-อูเครน แล้วก็มีอีกหลายประเทศที่ยื่นหนังสือขอเจรจา จึงเป็นไปได้ว่าต่อไปในอนาคต CPTPP อาจจะเป็นข้อตกลงที่ใหญ่โต
มโหระทึกทำให้ประเทศสมาชิกได้เปรียบในการทำมาค้าขาย ส่วนประเทศที่อยู่นอกกลุ่มก็จะเสียเปรียบ
การจะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP รัฐบาลต้องเปิดข้อมูลทุกด้านต่อประชาชนคนทั้งประเทศอย่างไม่ปิดบัง เพราะ CPTPP เป็น FTA สมัยใหม่ที่มีข้อตกลงครอบคลุมมากกว่าด้านการค้า การลงทุน แถมขยายขอบเขตไปถึงภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีมาตรฐานสูงกว่า FTA ที่ไทยได้เคยไปร่วมลงนามกับประเทศอื่นไว้ทั้งหมด
ใครที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะต้องไปเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 1991 ต้องมีการเชื่อมโยงระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรยา มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ถ้าเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ก็จะทำให้มีสหภาพแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลจะต้องศึกษาผลดีและผลเสียอย่างละเอียด
...
หลายปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมีปัญหา เรามีมูลค่าการส่งออกและการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติแพ้เวียดนามและมาเลเซีย มีการถอนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากไทยไปลงทุนในประเทศที่มี FTA มากกว่าไทย นอกจากเรื่องการค้าการลงทุนแล้ว หากเข้า CPTPP ในระยะยาว ไทยก็จะมีการยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้นหลายอย่าง เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีการแข่งขันมากขึ้น และสอดคล้องกับกติกาสากลของโลก
ทว่าต้องอย่าลืมว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสำคัญของไทย หลายหมื่นรายก็จะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด ไม่ว่าจะเป็นพวกอุตสาหกรรมเหล็ก อาหารสัตว์ รถจักรยานยนต์ ปุ๋ย ฯลฯ แรงงานหลายแสนอาจจะโดนผลกระทบ และต่างชาติจะเข้ามาประมูลแข่งขันธุรกิจจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้
นักการเมืองไทยไม่ค่อยนำเสนอประเด็นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้ประชาชนได้รับทราบ ทำให้เกิดความคลุมเครือ การลงทุนจึงชะลอและถอนตัว พอมีคนยกประเด็นขึ้นมาก็มีทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนจาก ‘ความรู้สึก’ โดยไม่ได้มาจาก ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ได้จากคำยืนยันของนักการเมืองที่จะเข้าไปบริหารประเทศ
การเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศแต่ละแห่ง ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบกับเศรษฐกิจและสังคม เพราะเกี่ยวพันกับวิถีของคนทุกระดับและทุกขั้นตอน
เราเห็นประเทศที่เผชิญความล่มจมทางเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-อูเครนอย่างสหราชอาณาจักรและอูเครน ที่เข้าเป็นสมาชิกและยื่นหนังสือเพื่อขอเจรจาเข้า CPTPP โดยให้เหตุผลว่าเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากสงคราม ทำให้นึกถึงว่า แล้วประเทศอื่นเล่า ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศของตัวเองหรือเปล่า อย่างไรก็ดี เปิดฟ้าส่องโลกขอยืนยันถึงความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อดีข้อเสียของการเข้า CPTPP ในทุกประเด็นต่อประชาชนคนไทยก่อนการตัดสินใจ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
อ่านข่าวเพิ่มเติม "เปิดฟ้าส่องโลก"