ในบรรดาราชวงศ์ทั่วโลก ต้องยกให้ “ราชวงศ์อังกฤษ” เป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดที่มีโบราณราชประเพณีและกฎเกณฑ์ข้อบังคับสืบต่อกันมายาวนานหลายร้อยปี โดยสมาชิกราชวงศ์ต่างยึดถือกฎราชสำนักเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม
หนึ่งในกฎเหล็กของราชวงศ์คือ เมื่อเข้าเฝ้าฯ องค์พระประมุข ผู้ชายต้องก้มหัวคำนับ ขณะที่ผู้หญิงต้องถอนสายบัวทุกครั้ง และสมาชิกราชวงศ์ต้องคอยระวังองค์อยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้สามัญชนทั่วไปแตะถูกพระวรกายเด็ดขาด
ล่าสุด “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา” ตกเป็นเป้าสายตาของชาวโลกระหว่างการเข้าเฝ้าฯ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามแห่งสหราชอาณาจักร” ซึ่งถือเป็นการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยสื่อหลายสำนักรายงานว่า ผู้นำแดนอินทรีได้ฝ่าฝืนกฎราชสำนักของราชวงศ์อังกฤษด้วยการตบหลังองค์ประมุขเบาๆแสดงความสนิทสนมเกินงามกับ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม”
เมื่อเดินทางมาถึงพระราชวังวินด์เซอร์ แรกเริ่มทั้งคู่จับมือเชคแฮนด์ทักทายกันตามธรรมเนียมฝรั่ง จากนั้นผู้นำสหรัฐอเมริกาก็ยกมือขึ้นตบหลังกษัตริย์อังกฤษเบาๆ ราวกับคุ้นเคย กันมานาน ไม่เพียงเท่านี้ “ไบเดน” ยังเดินนำหน้า “กษัตริย์ ชาร์ลส์ที่สาม” ระหว่างเดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าววงในจากพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมยืนกรานว่า ท่าทีดังกล่าวบ่งบอกถึงความสนิทสนมรักใคร่กันระหว่างทั้งสองผู้นำ และ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ก็ทรงรู้สึกสบายพระทัยกับท่าทีที่อบอุ่นและเป็นมิตรของราชอาคันตุกะคนสำคัญ
...
ย้อนกลับไปสมัยที่ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา” เข้าเฝ้าฯ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ก็ถูกสื่อแดนผู้ดีโจมตียกใหญ่ว่าไร้มารยาทที่เดินนำหน้าประมุขอังกฤษ ทำราวกับจะประกาศให้โลกรู้ว่าโนสนโนแคร์สถาบัน
หนังคนละม้วนเลยกับตอนที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง “มิเชล โอบามา” โอบพระอังสา (ไหล่) ขององค์ควีนระหว่างตามสามีเดินทางไปเยือนอังกฤษ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ งานนี้สื่อจำนวนมากชื่นชมว่าท่าทีดังกล่าวเป็นการแสดงความรักความอบอุ่นระหว่างหญิงต่างวัย โดยองค์ควีนทรงโอบเอวมิเชลก่อน ฝ่ายมิเชลก็ตอบรับด้วยการโอบพระอังสา (ไหล่) ของพระองค์ เรียกว่าคุยกันถูกคอมาก
ครั้งนั้นแหล่งข่าวจากพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมชี้ว่า นานจนจำไม่ได้แล้วที่ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ทรงแสดงพระเมตตาในที่สาธารณะกับผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ มันเป็นการแสดงออกซึ่งความรักของทั้งคู่อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีการแจ้งว่าห้ามแตะต้องพระวรกายขององค์ควีน
กระนั้น สื่ออังกฤษเคยโจมตี “อดีตนายกรัฐมนตรีพอล คีตติ้ง ของออสเตรเลีย” ที่ละเมิดกฎราชสำนัก ถึงขนาดตั้งฉายาให้ว่า “กิ้งก่าแห่งออซ” หลังผู้นำออสซีวางมือบนพระอังสาของควีนเอลิซาเบธที่สอง ขณะที่ “อดีตประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัก ของฝรั่งเศส” สร้างความไม่พอใจให้สื่ออังกฤษอย่างมาก เมื่อเกือบแตะโดนพระวรกายขององค์ควีน ทั้งๆที่พยายามระมัดระวังตัวอย่างดี ถูกนำไปล้อเลียนบนหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษหลายวันเชียว
เอาจริงๆแล้วทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น เพราะหากพระราชวงศ์แสดงไมตรีจิตก่อน ไม่ว่ากฎราชสำนักจะเคร่งครัดเพียงใดก็ล้วนอนุโลมและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ถูกผิดย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย.
มิสแซฟไฟร์